มทส.เปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แห่งแรกในอีสาน

มทส.เปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แห่งแรกในอีสาน

มทส. เปิดตัวโรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ แห่งแรกในภาคอีสาน ตอบโจทย์ SMELs และ Startup มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อพัฒนาประเทศ เดินเครื่องจักรเฟสแรกผลิตเอทานอลเพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤติ COVID-19

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ หรือ SUT Biorefinery Pilot Plant แห่งแรกในภาคอีสาน ภายใต้การดำเนินงานของเทคโนธานี และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมตอบโจทย์ขยายฐานการเติบโตกลุ่มธุรกิจ SMELs และ Startup โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพจากมันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินเครื่องจักรเฟสแรกเร่งผลิตเอทานอลพร้อมผนึกกำลังศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ผลิตแอลกอฮอล์เจล 75% ตามมาตรฐานคุณภาพบริการสู่สังคม และใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเผยแพร่ความรู้สู่สังคมจัดอบรมการทำแอลกอฮอล์เจลแก่หน่วยงานต่างๆ

158998110757


รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธานในการแถลงข่าว “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : SUT Biorefinery Pilot Plant” การให้บริการสู่สังคมและการเผยแพร่ความรู้สู่หน่วยงานในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ณ อาคารเครื่องมือ 11 และ SUT Biorefinery Pilot Plant มทส. โดยมี รศ.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าโครงการโรงงานต้นแบบผลิตพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังโดยใช้หลักไบโอรีไฟเนอรี่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะนักวิจัย พร้อมด้วย ผศ.นสพ.ภคนิจ คุปพิทยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ร่วมการแถลงข่าว


รศ.วีระพงษ์ เปิดเผยว่า โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากงบบูรณาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการตามยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน ในการสร้างโรงงานต้นแบบแห่งแรกของภาคอีสาน เพื่อการสนับสนุน ส่งเสริม และขยายฐานการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแอล (SMELs) และ สตาร์ทอัพ (Startup) ด้านพลังงานชีวภาพและเคมีจากมันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้ทดลองใช้บริการวิจัย พัฒนา และสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้ผลิตและจำหน่ายอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เทคโนธานี และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 โรงงานนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัยและบริการชุมชน

รศ.อภิชาติ บุญทาวัน กล่าวถึงการให้บริการของโรงงานต้นแบบฯ ว่า โรงงานดังกล่าว ได้ออกแบบเป็นลักษณะ R&D Pilot Plant โดยรับให้คำปรึกษา ออกแบบ และทดลองกระบวนการผลิตทางชีวภาพ เพื่อให้เห็นลักษณะผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ โดยมีทีมงานนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยกว่า 10 คน คอยให้บริการ โดยกระบวนการในโรงงานต้นแบบที่สามารถให้บริการภาคเอกชนได้ ประกอบด้วย กระบวนการผลิตน้ำตาลจากชีวมวลชนิดต่างๆ กระบวนการหมัก การกรองสารละลายด้วยเยื่อแผ่นบาง การดูดซับ กระบวนการระเหยด้วยฟิล์มบาง การกลั่นลำดับส่วนแบบต่อเนื่อง การกลั่นลำดับส่วนแบบมีปฏิกิริยา การตกผลึก การกลั่นด้วยระยะทางสั้น การทำแห้งแบบพ่นฝอย การอบแห้งแบบถาด ระบบดูดซับแบบสลับความดันสำหรับการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากไบโอแก๊ส การแยกไนโตรเจนออกจากอากาศเพื่อผลิตออกซิเจน หรือ การแยกน้ำออกจากเอทานอลเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล เป็นต้น

158998112573

คาดว่าในระยะเวลา 3-5 ปี หลังจากเปิดให้บริการ โรงงานต้นแบบแห่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการได้จำนวนกว่า 10 ราย และเกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ มากถึง 100 อัตรา พร้อมยกระดับผู้ประกอบการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพทั่วประเทศให้สามารถสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ สามารถติดต่อสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทรศัพท์ 0-4422-4818 หรือ ติดต่อ คุณภักดิ์วราณัณ วุฒิภัทรสันกลาง โทร.098-639-0928 ได้ในวันและเวลาทำการ


ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทาง SUT Biorefinery Pilot Plant ได้ปรับฐานการผลิตเป็นโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง มีการเตรียมการไว้สำหรับการใช้ในอาคารเรียนและห้องเรียนทุกห้อง โดยมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. เป็นหน่วยงานในการผลิตและควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานการป้องกันและกำจัดเชื้อโรคตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

ผศ. นสพ.ภคนิจ คุปพิทยานันท์ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ได้นำศักยภาพของบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มี ให้บริการสู่สังคมและเผยแพร่ความรู้สู่หน่วยงาน เพื่อร่วมบรรเทาวิกฤติ COVID-19 อย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลสุขอนามัยของประชาชนและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 ศูนย์เครื่องมือฯ ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยในการผลิตแอลกอฮอล์เจล 75% โดยได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบสารตั้งต้นจากโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี มทส. และจัดหาเพิ่มเติมจากงบประมาณของมหาวิทยาลัย ทำการผลิตแอลกอฮออล์เจล 75% เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาล มทส. ใช้ทางการแพทย์ รวมถึงใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ได้ผลิตแอลกอฮอล์เจลสำหรับแจกจ่ายในกิจการของมหาวิทยาลัย รวมกว่า 5,200 ขวด รวมถึงการให้กับหน่วยงานภายนอก เช่น ผลิตและส่งมอบให้กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่กำลังพลและภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพ จำนวน 2,000 ขวด ตลอดจนมอบให้หน่วยงานที่ขอความอนุเคราะห์ อาทิ จังหวัดนคราชสีมา สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา โรงพยาบาลค่ายสุรนารี

158998114798

นอกจากนี้ ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์เจลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานสามารถผลิตแอลกอฮอล์เจลใช้งานได้เองและแจกจ่ายในชุมชน มีหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมา เข้าฝึกอบรมช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้แก่ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว กองทัพภาคที่ 2 องค์การบริหารส่วนตำบลโชคชัย และเทศบาลตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย โดยหน่วยงานเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการผลิต ศูนย์เครื่องมือฯ สนับสนุนเครื่องมือการผลิตและวิทยากรนำฝึกปฏิบัติการตามขั้นตอน สามารถผลิตแอลกอฮอล์เจลรวมกว่า 7,000 ลิตร หรือบรรจุขวดขนาด 500 มิลลิลิตร ได้กว่า 11,800 ขวด


ทั้งนี้ ศูนย์เครื่องมือฯ ยังร่วมสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์เพื่อช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยสู่บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ ดัดแปลงตู้เก็บเสมหะผู้ป่วยเป็นตู้เก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ ร่วมกับ โรงพยาบาล มทส. จัดสร้างและส่งมอบตู้คัดกรองโรคความดันบวกและตู้คัดกรองโรคความดันลบ สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัย (Swap) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ให้กับโรงพยาบาลค่ายสุรนารี