‘ซินเน็ค’ ตั้งเป้ายึดที่ 1 ตลาด 'เกมมิ่ง'
วิกฤติโควิด-19 หนุนยอดขายโต 5 เท่า
สำหรับซินเน็ค เริ่มเข้าไปโฟกัสตลาดเกมอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 กระทั่งปีนี้เดินหน้าขยายพอร์ทโฟลิโอสินค้ารวมถึงพันธมิตรผู้ผลิต ล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เกมมิ่งแบรนด์เรเซอร์(Razer) อย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวในประเทศไทย รวมปัจจุบันมีสินค้าเกมมิ่งเกียร์และเกมมิ่งโน้ตบุ๊ควางจำหน่ายกว่า 1 พันรายการ
บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ปีนี้ยอดขายที่มาจากสินค้ากลุ่มเกมมิ่งจะทำได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า 2,500 ล้านบาท พร้อมครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 กลุ่มสินค้าเกมมิ่งเกียร์และโน้ตบุ๊คเกมมิ่งในประเทศไทยได้ต่อเนื่อง
“สินค้าเกมมิ่งเติบโตได้ดีสวนทางกับวิกฤติ เฉพาะเดือนเม.ย.ปีนี้เทียบกับปีก่อนหน้า ยอดขายของเราเติบโตถึง 5 เท่า จากความต้องการซื้อสินค้าเพื่อนำไปเล่นเมื่อต้องเก็บตัวอยู่บ้าน เกมนับเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ยอดขายเติบโตได้มากกว่า 20% ทุกปี”
เธอกล่าวต่อว่า โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงาน เกิดเป็นนิวนอร์มอลที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น มีการจับจ่ายสินค้าไอทีที่มากขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่เติบโตมากขึ้นช่วงโควิดประกอบด้วย อุปกรณ์เกม อุปกรณ์เครือข่าย อุปกรณ์ต่อเชื่อมสำหรับการประชุมออนไลน์ สมาร์ทโฟนราคา 2.9-6 พันบาท รวมถึงโน้ตบุ๊ค ส่วนที่ยอดลดลงคือ สินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเช่น เมโมรีการ์ด แฟลชไดรฟ์ แกดเจ็ทราคาแพงที่ต้องเข้ามาเลือกชมภายในร้าน เครื่องพิมพ์ขนาดกลาง และสินค้าสำหรับโปรเจ็ค
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์พบว่า ตลาดไอทีไทยกลับมาคึกคัก จากที่ได้พูดคุยกับคู่ค้าผู้ค้าปลีกต่างบอกว่าขายสินค้าได้ดีมากขึ้น หากการระบาดเวฟที่ 2 ไม่เกิด คาดว่าไตรมาสที่ 3 ตลาดไอทีจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว และกลับมาคึกคักอย่างมากช่วงไตรมาสที่ 4 โดยอีกหนึ่งนิวเวฟที่น่าจับตามองคือการมาของสมาร์ทดีไวซ์ที่รองรับ 5 จี
หลังจากนี้ ซินเน็คมีแผนปรับตัวโดยเน้นการขายสินค้าเกมมิ่ง เน็ตเวิร์คกิ้งโซลูชั่นสำหรับเอ็นเตอร์ไพรซ์ รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับเฮลธ์เช่น เครื่องตรวจจับอุณหภูมิ ขณะเดียวกันวางออนไลน์เป็นตัวจักรทำเงิน ขณะนี้เร่งสร้างความเชื่อมั่นภายใต้โลโก้ ทรัสต์บายซินเน็ค ตั้งเป้าว่ารายได้ตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ 3.4-3.5 หมื่นล้านบาท เน้นรักษากำไรขั้นต้นให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4% พร้อมๆ ไปกับลดค่าใช้จ่าย และบริหารจัดการภายในให้ดีขึ้น
“ด้วยสถานการณ์ตลาดและสภาพเศรษฐกิจ ยอมรับว่าการทำธุรกิจไอทีต้องเหนื่อยมากขึ้น การจะอยู่รอดและไปได้ดีต้องหันไปเพิ่มโฟกัสด้านโซลูชั่น เชื่อว่าโอกาสยังมีอยู่ ทว่าผู้ค้าทุกรายจำต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์นิวนอร์มอลให้ได้”