อว.ฝ่าคลื่นโควิดดิสรัป เปิดโปรเจค ‘เพิ่มทักษะ-จ้างงาน’
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เดินหน้า 2 โปรเจคฝ่าคลื่นโควิดดิสรัป“เสริมทักษะ-รุกจ้างงาน”ลงนามกับ19 มหาวิทยาลัย เปิด 30 หลักสูตรเพิ่มความรู้ความสามารถรองรับงานหลังวิกฤติ พร้อมจัดงบ 14ล้านบาท ตั้งเป้า3 พันคนในปี63ด้านโครงการ อว.จ้างงานเฟส2 จ้าง 9พันบาทต่อเดือน
8 สาขาวิชาชีพแห่งอนาคต
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีหน้าที่หลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้คนไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวิถีการดำเนินชีวิต ด้วยการพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่อรองรับงานในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยจะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่ มิ.ย.นี้ ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ ได้แก่ 1.ทักษะการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม 2.อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ 3.ทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 4.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ 5.อุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล 6.ทักษะการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์ 7.อาหารแห่งอนาคตและ 8.อุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์/ปัญญาประดิษฐ์
“สิ่งที่คนไทยต้องปรับตัวคือ เรื่องของการที่เราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ในเมื่อเป็นสภาวะที่เทคโนโลยีดิสรัปชั่น โรคระบาดและความเสี่ยงของภัยคุกคามต่างๆ มากมาย ผู้ที่พรั่งพร้อมเท่านั้นที่จะเต็มไปด้วยประตูแห่งโอกาส เพราะฉะนั้นประชาชนจำเป็นจะต้องได้รับการรีสกิล อัพสกิลและนิวสกิล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
ดังนั้นคนที่อยู่ในระบบการทำงานกว่า 39 ล้านคน มีโอกาสที่จะถูกดิสรัปจากปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น จึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการในครั้งนี้ โดยพลังสำคัญมาจากมหาวิทยาลัยที่สามารถตอบโจทย์ภาคเอกชนอย่างแท้จริง
ตั้งเป้าพัฒนา 3 พันคนภายในปี 63
ดังนั้น อว.จึงต้องการเป็นดีมานด์ไซส์เตรียมการเพื่อให้มีอาชีพแห่งอนาคต เริ่มด้วยการผนึกสถาบันอุดมศึกษา 19 แห่ง นำมาสู่ 8 สาขาสำคัญ โดยโครงการฝึกอบรมที่จะจัดได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกร่วมกันจากกรรมการฯ ของ อว. จนได้บทสรุปในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) รวม 30 หลักสูตร ส่วนมากเป็นรูปแบบเรียนฟรีที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ มีเพียงบางหลักสูตรที่อาจจะเก็บค่าใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 5% หรือไม่เกิน 1 พันบาท
จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และให้มีงานทำในโลกหลังโควิดที่ยกระดับทักษะ สมรรถนะ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่จะขยายผลต่อโดยอาจจะใช้งบประมาณเงินกู้ที่เพิ่งผ่านสภาฯ
ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษานำร่องในโครงการที่ผ่านการคัดเลือก 19 แห่งนั้น แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ 17 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ ม.ศรีปทุม ม.หอการค้าไทย ที่จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้คุณภาพมาตรฐานตามกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการประเมินผลโครงการเพื่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สำนักงานปลัด (สป.) อว.จะสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท คาดจะพัฒนาคนได้กว่า 3 พันคน ภายในปี 2563
ปรับให้ “คน” เปลี่ยนทันโลก
ด้าน อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนายกระดับศักยภาพคนไทยให้พร้อมทำงาน ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการจึงครอบคลุมทั้งผู้ว่างงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แรงงานคืนถิ่น รวมทั้งกลุ่มกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะชั้นสูงให้สอดคล้องกับโลกในอนาคต
ในระยะแรก สป.อว. ได้เชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในสังกัด 24 สถาบัน มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และได้รับการตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาส่งหลักสูตรเข้ามามากกว่า 400 หลักสูตร โดยจะมีทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ ประกอบด้วย 1. หลักสูตรที่เสนอต้องตรงกับความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษา 2. สามารถระบุความต้องการและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ได้งานทำและการทำงานที่มีคุณภาพ 3. หลักสูตรสามารถระบุทักษะที่มีมาตรฐาน วิธีวัดและประเมินผล 4. หลักสูตรจะต้องมีผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 30 คน 5.วิทยากรมีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอ 6. อุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน 7.การประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการอบรม
นอกจากนี้ยังจัดให้มีกระบวนการ Post Audit หลักสูตรเพื่อการรับรองที่ส่งเสริมให้สามารถสะสมหน่วยกิต เพื่อขอรับปริญญาได้ต่อไป
ขยายจ้างงาน ลดกระทบโควิด
ทั้งนี้ สุวิทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง “โครงการ อว.สร้างงาน” ว่า ระยะที่ 1 มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 9,710 อัตรา จากหน่วยจ้างงาน 42 หน่วยงานของกระทรวง ส่วนระยะที่ 2 ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.2563 รวมระยะเวลา 3 เดือน อัตราค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาทต่อเดือน คาดว่าจะรับสมัครงานได้ 32,718 อัตรา และจะเสนอขอใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. เงินกู้ เพื่อจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ บัณฑิตที่ตกค้าง รวมถึงบัณฑิตที่ว่างงานจากโควิด-19 อีก 2 แสนอัตรา และนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 อีก 1 แสนอัตรา เป็นเวลา 1 ภาคเรียน ให้ทำงานในพื้นที่ตามชุมชนเมืองและชนบท โดยจะเปิดรับสมัครทันทีหลังจากที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้
“ไม่ใช่แค่การสร้างงาน สร้างรายได้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาทำงานร่วมกับ อว.ได้เห็นช่องทางที่จะไปต่อ ทั้งยังจะมีการปรับปรุงทักษะ เพิ่มและพัฒนาทักษะให้ประชาชนที่ได้รับการจ้างงาน นำไปใช้ในวิชาชีพในอนาคต อาทิ ด้านดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ และการบริการทางการเงิน ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาหลังจบภารกิจ”
ผู้ที่ได้รับการจ้างงาน หากเห็นโอกาสจากการทำงานหลังจากนี้ และสนใจจะเป็นผู้ประกอบการ อว.มีกองทุนเริ่มต้นธุรกิจให้ ไม่ว่าจะมาจาก กองทุนยุวสตาร์ทอัพ หรือกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เพื่อติดปลายนวมให้ประชาชนอีกด้วย