เก็บภาษี 'ยักษ์ดิจิทัล' สกัดเงินไหลนอกประเทศ
วงการดิจิทัลไทย “ขานรับ” ภาษี อี-เซอร์วิส ระบุไทยขาดดุลการค้าดิจิทัลเงินไหลออกกว่า 4 หมื่นล้านต่อปี ด้านผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มยัง “นิ่ง” ระบุสั้นๆ ขอดูกฎหมายและรายละเอียดที่ชัดเจน
กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้จะกระตุ้นทำให้เกิดการแข่งขัน การลงทุนในอุตสาหกรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ ในไทย จากเดิมที่ไม่เคยเห็นข้อมูลมาก่อน เช่น หนัง เพลง ซอฟต์แวร์ โฆษณา แต่เราอาจจะไม่ได้แข่งกับเข้าตรงๆ แต่จะเห็นขนาดตลาดในไทย และสามารถใช้กลยุทธ์สร้างฐานลูกค้าเฉพาะได้จากข้อมูลที่เห็น รวมไปถึงรัฐบาลสามารถไปชวนบริษัทเหล่านี้มาลงทุนตั้งออฟฟิศในประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น
ขณะที่ บริการออนไลน์ของต่างประเทศที่เข้าข่ายในการเสียภาษีดิจิทัล ได้แก่ 1. กลุ่มอีคอมเมิร์ซ (เช่น อีเบย์ อาลีบาบา อเมซอน) 2. มีเดีย และแอดเวอร์ไทซิ่ง (เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ไลน์) 3.กลุ่มบริการ (มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ,เอเวอร์โน้ต) 4. กลุ่มทรานส์ปอร์เทชั่น (แอร์ไลน์ ) 5.กลุ่มทราเวล( Booking, AirBNB) 6. ดิจิทัล คอนเทนท์ (เน็ตฟลิกซ์, ไอฟลิกซ์, จู๊กซ์ , สปอทิฟายด์) 7. กลุ่มซอฟต์แวร์ ( เช่น แอ๊ปเปิ้ล แอพ) 8. เกม(บนไอโอเอส แอนดรอยด์ แอพฯ เกมต่างๆ) 9.กลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ (เช่น บริการคลาวด์ต่างๆ ) 10. บริการการเงิน (เช่น เพย์พาล) 11. ฟอเร็กซ์ อินเวสเม้นท์ 12. การพนันออนไลน์
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเรียกเก็บภาษี อี-เซอร์วิส เนื่องจากรัฐบาลไม่รู้เม็ดเงินที่คนไทยจ่ายให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ การที่มีกฎหมายดังกล่าวเหล่านี้ออกมาจะบังคับให้ผู้บริการเหล่านี้ต้องรายงานตัวเลขการจัดเก็บภาษี VAT จากธุรกิจ หรือ ผู้บริโภคในไทย ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้รายได้ที่ชัดเจน หรือ เงินที่ไหลออกไปสู่ผู้ให้บริการเหล่านี้ที่ปีหนึ่งมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศและของต่างประเทศ
ยักษ์ดิจิทัลต่างประเทศยัง “นิ่ง”
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยังผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ยังไม่ขอให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว รอให้มีกฎหมายออกมาชัดเจนเสียก่อนจึงจะสามารถนำไปให้ทางฝ่ายกฎหมายของบริษัทพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
ก่อนหน้านี้ นางมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอร์บีแอนด์บี (Airbnb) เปิดเผยว่า สถิติของแอร์บีเอ็นบีไทยเมื่อปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้าพักกับแพลตฟอร์มรวม 1.8 ล้านคน และมีบ้านพักที่ขึ้นทะเบียนกับ แอร์บีเอ็นบีรวม 8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ด้านรายได้ของเจ้าของบ้านพัก(Host) ที่เปิดบ้านพักกับแพลตฟอร์มทำรายได้เฉลี่ย 78,000 บาทต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ รายงานตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลของไทย โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ กันตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินด้านโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแพลตฟอร์มดิจิทัลของต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย มีอัตราการใช้บริการจากแพลตฟอร์มดิจิทัลสูงมากจนติดอันดับโลก เช่น ยูทบ ประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ประเทศที่ใช้เวลารับชมยูทูมากที่สุดจากทั่วโลกมีคนใช้เฟซบุ๊ค มากกว่า 58 ล้านคนต่อเดือน ไลน์ 45 ล้านคน ทวิตเตอร์ ราว 6.5 ล้านบัญชี อินสตาแกรม ราว 12 ล้านบัญชี ซึ่งสัดส่วนผู้ใช้โซเชียลมีเดียของไทยคิดเป็น 75% ของจำนวนประชากร