'ซีอีโอจิสด้า' เปิดวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจอวกาศ’
สทอภ.เปิดตัว“ปกรณ์ อาภาพันธุ์”ผู้อำนวยการคนใหม่ วาระงาน4 ปีวางกรอบนโยบายผลักดัน2เรื่องหลัก การใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศ(จีไอเอส)ให้เกิดประโยชน์ทั้งระดับประเทศและประชาชน ส่งเสริมกิจการอวกาศผ่านกิจกรรมต่างๆตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่“เศรษฐกิจอวกาศ"
อุตสาหกรรมอวกาศโลกอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2583 จะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในส่วนของประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
ขับเคลื่อน2นโยบายหลัก
ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เปิดเผยว่า กรอบนโยบายการทำงานในระยะเวลา 4 ปีต่อไป มุ่ง 2 ส่วนหลักคือ 1.งานข้อมูลภูมิสารสนเทศ (จีไอเอส) ที่มีการใช้งานจริงทั้งในระดับหน่วยงานภาครัฐที่จะเกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ผ่านกลไกสร้างความร่วมมือและการประสานงานให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
นอกจากนี้ยังมุ่งผลักดันให้ประชาชนและสังคมเข้าถึงข้อมูล GIS ได้ง่ายและสะดวก ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดยคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพและบุคคลภายนอก 2.งานด้านอวกาศจะมุ่งเน้นในส่วนของดาวเทียมธีออส 2 ให้คุ้มค่ากับการลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท ตามกำหนดจะส่งขึ้นอวกาศอีก 2 ปีข้างหน้า
โดยมีนโยบายที่จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จและการใช้ประโยชน์ได้จริงในหลายๆ ด้าน ผ่านระบบและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ลงทุนไว้รองรับแล้ว ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์ม AIP ที่จะช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลแทนสมองของมนุษย์ ที่สามารถบอกได้ว่า การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่นั้น หน่วยงานใดบ้างต้องร่วมกันดำเนินการ มีแนวทางดำเนินการอย่างไร ใช้ทรัพยากรเช่นกำลังคนหรืองบประมาณเท่าไร
“ตาม พ.ร.บ.แล้ว สทอภ.เป็นหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เกิดประโยชน์สูงสุดขณะที่ขอบเขตเทคโนโลยีอวกาศมีมากกว่าดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมสำรวจ เพราะอวกาศเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของ ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงได้ จะเห็นได้จากหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญมากในการใช้ประโยชน์จากอวกาศ ย้อนกลับมาที่ไทยก็ไม่ควรพลาดโอกาสนี้ ผมจึงจะผลักดันให้ภาครัฐเห็นประโยชน์และโอกาสในส่วนนี้ เช่น สิงคโปร์มีสตาร์ทอัพที่รับจ้างเก็บขยะอวกาศ”
ฐานส่งจรวด-พรบ.อวกาศ
แนวทางการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ อาทิเช่น ศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ในจุดที่ใกล้ทะเลและเส้นศูนย์สูตร สามารถเป็น “สเปซพอร์ต” หรือฐานส่งจรวด แต่ต้องศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบด้านทั้งความคุ้มค่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ, ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขไปแล้วบางส่วน และเตรียมจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ จะทำให้การส่งเสริมกิจการอวกาศในหลายๆ ประเด็นของประเทศมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีดาวเทียมที่ใช้งานในปัจจุบันและที่หมดอายุการใช้งานแล้วไม่น้อยกว่า 11 ดวง และมีแผนจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในช่วงระยะเวลา 3-5 ปี อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม Royal Thai Air Force 1 – 2 (RTAF sat) ดาวเทียมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCC Sat) และดาวเทียมในโครงการธีออส-2 จำนวน 2 ดวง รวมถึงดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำอื่นๆ
ประเทศไทยจึงต้องมีแนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยได้มีแนวปฏิบัติในการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศสำหรับใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายอวกาศและหน่วยงานที่ดูแลการรับจดแจ้งดังกล่าว สทอภ.จึงได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว
ในส่วนที่สนับสนุนกิจกรรมของอีอีซีนั้น สทอภ.มีโครงสร้างพื้นฐานอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม (AIT) ตามมาตรฐานสากล อีกทั้งดำเนินการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากยิ่งขึ้น
พัฒนาบุคลากรทักษะโค้ดดิ้ง
สทอภ.ยังพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นแนวหน้ามุ่งเป้าวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ (ESS) พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายการส่งเสริม “อุตสาหกรรมต่อเนื่อง” เช่น ชุดนักบินอวกาศ ประเทศไทยสามารถผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล ที่บุคลากรทางการแพทย์สวมป้องกันการติดเชื้อไวรัสในช่วงโควิด พบว่า มาตรฐานของชุดอยู่ในระดับใกล้เคียงกับชุดนักบินอวกาศ หากเอกชนพัฒนาต่อยอดก็สามารถผลิตชุดนักบินอวกาศได้
นอกจากการสร้าง ส่งเสริมและเสาะหาโอกาสทางธุรกิจจากอวกาศแล้ว เขายังมีนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากร โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภูมิภาคจัดทำหลักสูตรการเขียนโค้ดดิ้งเพื่อสั่งการหรือควบคุมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งตั้งใจที่จะส่งนิสิตนักศึกษาที่ทาเลนท์ไปเรียนหรือฝึกทำงานระยะสั้นกับภาคเอกชนในต่างประเทศ
ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศ รวมทั้งการแสวงหาโอกาสหรือช่องทางเข้าถึงแหล่งทุนต่างชาติในการพัฒนาเยาวชนไทย ยกตัวอย่าง การสร้างโอกาสเข้าถึงกองทุนในนิวซีแลนด์สำหรับโครงการพัฒนาดาวเทียมจิ๋วสำหรับเยาวชนไทย
“ในหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในกิจการอวกาศ รัฐบาลอาจไม่ต้องลงทุนเองแต่เป็นการทำงานในรูปแบบ “ทีมไทยแลนด์” ประกอบด้วยทุกภาคส่วน ขณะที่ สทอภ.เป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่แสวงหาโอกาสให้กับภาคเอกชน หรือประสานเชื่อมโยงเครือข่ายและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ ผมมุ่งผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดได้จริง ไม่ปิดกั้นที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน” ปกรณ์ กล่าวในที่สุด