จุฬาฯ พัฒนา 'กล่องครอบศีรษะ' ลดเสี่ยงแพทย์ทำหัตถการ

จุฬาฯ พัฒนา 'กล่องครอบศีรษะ' ลดเสี่ยงแพทย์ทำหัตถการ

นวัตกรรมกล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจ (Clear Box by Anes Chula) ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะวิสัญญีแพทย์ที่ต้องทำหัตถการอื่นๆ นอกจากการวางยาสลบ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมานั้น  บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคไวรัสโควิด-19  สูงมาก ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะวิสัญญีแพทย์ที่ต้องทำหัตถการอื่นๆนอกจากการวางยาสลบ เช่น การใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้ที่สงสัยว่าติดโรคโควิด-19 จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมกล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจ (Clear Box by Anes Chula) ซึ่งคิดค้นขึ้นโดย นพ.ปรก เหล่าสุวรรณ์ ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะ

159427811623

นพ.ปรก เหล่าสุวรรณ์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมนี้ว่า เดิมทีได้มีการนำแผ่นพลาสติกใสขนาดใหญ่มาคลุมบริเวณศีรษะและใบหน้าของผู้ป่วยระหว่างการทำหัตถการ แต่การควบคุมแผ่นพลาสติกนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้แพทย์ทำงานได้ไม่สะดวกเนื่องจากพื้นที่สำหรับทำหัตถการบริเวณศีรษะมีจำกัด ซึ่งในระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยได้รับยาสลบแล้วจึงไม่มีการไอหรือจาม แต่การถอดท่อช่วยหายใจหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง วิสัญญีแพทย์ต้องทำให้ยาสลบหมดฤทธิ์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถไอ กระแอม หรือพูดได้เหมือนเดิม กระบวนการนี้คือจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะสารคัดหลั่งที่ออกมาจากผู้ป่วยอาจมีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อนและเกิดการฟุ้งกระจาย ทำให้แพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ อีกทั้งแผ่นพลาสติกดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด จึงเป็นที่มาของการคิดค้นอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฟุ้งกระจายในห้องผ่าตัด พร้อมทั้งได้ติดต่อกับโรงงานผลิตและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบจนกระทั่งได้เป็นกล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจ(Clear Box by Anes Chula)

กล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจออกแบบให้มีช่องสำหรับให้แพทย์ใส่หรือถอดท่อหายใจ มีประตูแม่เหล็กเพื่อให้แพทย์สามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรบกวนผู้ช่วยหรือพยาบาล มีร่องสำหรับเสียบอุปกรณ์เกี่ยวกับงานวิสัญญีโดยเฉพาะ อีกทั้งฐานของกล่องและมุมต่างๆ ภายในกล่องออกแบบให้ง่ายต่อการทำความสะอาด แต่เนื่องจากนวัตกรรมนี้ออกแบบมาเพื่องานของวิสัญญีแพทย์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ ขนาดของกล่องครอบศีรษะที่เหมาะสมกับขนาดเตียงผ่าตัดเท่านั้น หากนำไปใช้ในห้องฉุกเฉินหรือห้องพักผู้ป่วยอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งาน และวัสดุที่ทำจากอะคริลิค(Acrylic) อาจเกิดความเสียหาย แตกหักได้ง่าย หากเกิดการตก ชน หรือกระแทก   

  159427814191

นพ.ปรก เหล่าสุวรรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของกล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจนี้ไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกสถานการณ์ (Not fit for all) ดังนั้น การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละงานอย่างไร โดยคณะทำงานที่ร่วมกันคิดค้นพัฒนากล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจ พยายามอย่างยิ่งที่จะหาวิธีการให้โรงพยาบาลทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ โดยคำนึงถึงวัสดุที่หาได้ไม่ยาก ง่ายต่อการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดเป็นหลัก

159427816343

สำหรับนวัตกรรมกล่องครอบศีรษะสำหรับทำหัตถการบริเวณทางเดินหายใจ (Clear Box by Anes Chula) อยู่ระหว่างการยื่นขอรับสิทธิบัตรระดับชาติ ทั้งนี้ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับโรงงานที่ผลิตกล่องครอบศีรษะได้จัดทำโครงการแจก Clear Box by Anes Chula ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ได้แจกไปแล้วกว่า 1,000 กล่อง ซึ่งฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมจัดส่งให้หากโรงพยาบาลใดสนใจหรือต้องการนำไปใช้ก็สามารถติดต่อเพื่อขอรับได้ รวมถึงแจกแบบให้กับโรงพยาบาลที่มีทรัพยากรในการผลิตเพื่อใช้ในโรงพยาบาลต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 02-256-4295