ทีเคเคฯถอดบทเรียนรอดโควิด ปักธง ‘ลีน’ กระชับองค์กร
“ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น” แชร์บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ชี้ชัด “ลูกค้าชั้นดี-ไม่มีหนี้เสีย” คีย์เวิร์ดที่ทำให้อยู่รอดและเจ็บตัวน้อยที่สุด เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติที่อาจเกิดในอนาคต เน้นเทคนิค “ลีน”กระชับต้นทุน ลดภาระงาน
“ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น” ธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ เริ่มต้นมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางเมื่อปี 2547 ปัจจุบันมีสินค้าที่จำหน่ายกว่า 2,000 แบรนด์จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐ เยอรมนีและฝรั่งเศส และได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับ 40 แบรนด์ระดับโลก รวมมีสินค้ามากกว่า 1 แสนรายการ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ โรงงานขนาดใหญ่ทั้งของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ตั้งแต่โรงงานผลิตรถยนต์ ผลิตยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค
ยึดแนวทาง“ลีน”ขจัดภาระส่วนเกิน
กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บทเรียนจากสถานการณ์โรคโควิด-19 สอนให้รู้ถึงความสำคัญของการ “ลีน” (Lean) ทั้งในส่วนของภาระงานที่ลดการพึ่งพาแรงงานคนให้เหลือน้อยที่สุดด้วยระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์ และการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้ลีนมากที่สุด เช่น ที่ดินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็จะขายออกไป สำนักงานสาขาในบางพื้นที่ก็ใช้การเช่าแทนลงทุนซื้อ
การลีนยังรวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าโดยให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน ทำให้สินค้าในสต๊อกมีมูลค่าเพียง 10-30 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับยอดขาย 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าก็ต้องโฟกัส “ลูกค้าชั้นดี” ซึ่งไม่สร้างภาระหนี้สิน ทำให้บริษัทไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน โดยมียอดขายเฉลี่ย 60-70 ล้านบาทต่อเดือน มีพนักงาน 90 คนและจะไม่รับเพิ่มใหม่
“แต่ก็มีคำถามว่า ปีหน้าตั้งยอดขายไว้ที่ 1,500 ล้านบาท ขณะที่จำนวนพนักงานไม่เพิ่มขึ้นจะทำอย่างไร ตอนนี้บริษัทใช้ Robot Processing Automation (RPA) ซึ่งเป็นโปรแกรมอัตโนมัติที่ทำงานทดแทนแรงงานคนในบางหน้าที่ในส่วนของการบริหารจัดการหลังบ้านอย่าง ระบบจัดการบุคลากร ระบบจัดทำบัญชีจัดซื้อ โดยระบบอัตโนมัตจะทำงานในช่วงกลางคืนให้เสร็จพร้อมสำหรับพนักงานรับงานต่อในตอนเช้า เช่น แผนกบัญชี ไม่จำเป็นต้องลงบัญชีเอง ไม่ต้องทำใบ invoice เพราะโรบอตทำให้เสร็จสรรพ ทำให้แผนกบัญชีใช้บุคลากรเพียง 5 คนจากเดิม 20 คน”
การลีนเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งหมายถึง การทำให้ตัวเองสะอาด แข็งแรงและพนักงานมีความสุข ยกตัวอย่าง work from home เต็มรูปแบบ 100% ต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ โดยสนับสนุนอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์บริษัทก็ยังเปิดให้สามารถ work from home สัปดาห์ละ 1 วัน เนื่องจากระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจะทำให้ตรวจสอบการทำงานของพนักงานได้ตลอดเวลา แม้จะอยู่นอกออฟฟิศก็ตาม จากที่มีการ login และ logout ถือเป็นการสื่อสารสองทาง
“เราเห็นวิกฤติที่เกิดกับผู้ประกอบการหลายราย เช่น ร้านอาหารชื่อดังอายุ 90 ปี มีพนักงานเกือบ 1,000 คน ยอดขาย 400 ล้านบาทต่อปี มีลูกค้าหลักเป็นร้านอาหาร สาขาห้างสรรพสินค้าและครัวของสายการบิน ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งสิ้น ปัญหาของรายนี้คือ การแบกรับพนักงาน 1,000 คนถือเป็นเรื่องหนักมาก มีภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนเกือบ 30 ล้านบาท เมื่อกิจการชะงัก 3 เดือนก็หมดไปร่วม 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเหมือนการทิ้งกำไรสะสมที่ทำมา เรื่องนี้สำคัญที่เจ้าของกิจการต้องทบทวนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน โดยเปิดโอกาสและยอมรับที่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ”
หุ่นยนต์การแพทย์ เป้าหมายใหม่
ทีเคเคฯ เป็นบริษัททางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงต้องทำเป็นตัวอย่างให้เกิดขึ้นจริง แผนงานระยะต่อไปจะผลักดันเรื่องของหุ่นยนต์มากขึ้น จึงได้ตั้งแผนกใหม่ Total Solution Provider โดยนำสินค้าและเทคโนโลยีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรวมกว่าแสนชิ้นนั้น มาออกแบบระบบการผลิตอัตโนมัติตามโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะโรงงานระดับเอสเอ็มอีที่มีปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบผลิตอัตโนมัติ ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
บริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) ของภูมิภาคอาเซียน จึงใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวางระบบออโตเมชั่นในโรงงานอุตสาหกรรม ก้าวสู่ผู้พัฒนาหุ่นยนต์แบบครบวงจร โดยมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ AGV Hospital Cart Transport System ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่บนแถบแม่เหล็กนำทางได้เองโดยไม่ต้องควบคุมสั่งการ
เพื่อเป็นผู้ช่วยในการขนส่งยา อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ สามารถสื่อสารกับคนไข้ผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์และหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองด้วยระบบเซ็นเซอร์ ในราคาต้นทุนต่ำเพียงตัวละประมาณ 4 แสนบาท และมีคุณภาพมาตรฐานเทียบกับหุ่นยนต์ AGV นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ตัวละ 8 แสน-1.2 ล้านบาท
เล็งปี 65 เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัทไม่หยุดการพัฒนาต่อยอดจากระบบเอจีวี ล่าสุดได้ยกระดับการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์แบบ Automated Mobile Robots หรือ AMR ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องใช้เส้นแถบแม่เหล็ก โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์ และระบบจีพีเอสกำหนดพิกัด เพียงมี Floor plan ของอาคารสถานที่และใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ ถือเทคโนโลยีและวิทยาการที่ล้ำสมัยของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุค 4.0
“เราต้องการขยายขีดความสามารถจากผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นแก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ปริมาณความต้องการใช้หุ่นยนต์ AGV และ AMR มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีอัตราเติบโตถึง 300% จากปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการในโรงพยาบาล ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการนำนวัตกรรมเข้าเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการและภาคการผลิตในอนาคต เพื่อทดแทนแรงงาน และพัฒนาทักษะบุคลากรด้านอื่นๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่องค์กร”
กัลยาณี กล่าวถึงอนาคตอันใกล้ขององค์กรว่า ตั้งเป้ายอดขาย 800 ล้านบาทในปี 2563 และ 1,500 ล้านบาทในปีหน้าจากบุคลากร 90 คน พร้อมทั้งตั้งเป้าว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2565 จะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนที่มีทั้งกำลังคน กำลังเงินและพันธมิตรร่วมมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นคือด้านภาพลักษณ์ ขณะที่การที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเป็นการจัดระเบียบหลังบ้าน ซึ่งไม่ง่ายเลยมีทั้ง Internal audit External audit มี ISO การปิดงบปิดบัญชีให้ทันภายในระยะเวลากำหนด เพราะฉะนั้น จึงเป็นการฝึกให้พนักงานมีมาตรฐานการทำงานที่ดี ทำให้รู้จักคิด มีทักษะที่เก่งขึ้น