งาน “มหาพรหมราชินี สดุดีพระพันปีหลวง” โชว์พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก
วว.จับมือ สสว.และสภาดอกไม้โลก จัดงาน “มหาพรหมราชินี สดุดีพระพันปีหลวง” 8-12 ส.ค.2563 ณ ลาน Crystal Court ศูนย์การค้าสยามพารากอน โชว์พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พร้อมเชิญชวนชาวไทยร่วมสร้างปฏิมากรรมดอกไม้สดจำนวน 8,888 ดอก ถวายพระพรสมเด็จพระพันปีหลวง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาดอกไม้โลก จัดงาน “มหาพรหมราชินี สดุดีพระพันปีหลวง” ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม 2563 ณ ลาน Crystal Court ศูนย์การค้าสยามพารากอน โชว์พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบโดย วว. ชมนิทรรศการไม้ดอกไม้ประดับ...ผลงานการพัฒนาภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ให้แก่ผู้ประกอบการจังหวัดเลย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา พร้อมเชิญชวนชาวไทยร่วมสร้างปฏิมากรรมดอกไม้สดจำนวน 8,888 ดอก ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 88 พรรษา 12 สิงหาคม 2563
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาดอกไม้โลก และศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงาน “มหาพรหมราชินี สดุดีพระพันปีหลวง” เพื่อร่วมกันเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ในรูปแบบของนิทรรศการพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบโดย วว. และจัดแสดงผลงานกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2563 ของผู้ประกอบการในจังหวัดเลย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งยังเป็นการร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาอีกด้วย
กิจกรรมในงาน อาทิเช่น นิทรรศการพรรณไม้ที่ค้นพบและได้รับพระราชทานนามโดย วว. ได้นำมาจัดแสดง พร้อมทั้งพรรณไม้ดอกไม้ประดับจากผู้ประกอบการคลัสเตอร์ในพื้นที่จังหวัดเลย นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดย นายภูเบศร์ เจษฎ์เมธี รองประธานสภาดอกไม้โลก การบรรยายพิเศษ จาก อาจารย์ ดร.คฑา ชินบัญชร เรื่อง “คลัสเตอร์ มหัศจรรย์พรรณไม้เพิ่มพลังชีวิต” การสาธิตจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ การสาธิตการเปลี่ยนสีดอกไม้ การเบลนด์ชาดอกไม้ การจัดช่อดอกไม้ การจัดสวนถาดไม้อวบน้ำแนวใหม่ การหล่อกระถางปูนสำหรับตะบองเพชรและพืชอวบน้ำ การจัดสวนในขวดแก้ว การจัดพานแบบไทย เด็ดดอกไม้มาแปลงเป็นจานเด็ด การร้อยมาลัยถวายสดุดี การจัดดอกไม้เพื่อเป็นของขวัญ การจัดทำของที่ระลึกจากไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น รวมทั้งการจำหน่ายพรรณไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับ
ดร.ชุติมา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง ความร่วมมือระหว่าง วว. และ สสว. ที่ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2563 ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดเลย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพไม้ดอกไม้ประดับให้แก่ผู้ประกอบการ กิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของภาครัฐในการร่วมกันสร้างคลัสเตอร์ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมไปถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่สนับสนุนขับเคลื่อนคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“วว.ได้รวบรวมสายพันธุ์พรรณไม้หายากชนิดต่างๆ รวมทั้งขยายพันธุ์ให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจนำไปปลูกเลี้ยง เพื่อเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้ไม่ให้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการปลูกเลี้ยงในงานภูมิทัศน์ ตลอดจนการคิดค้นกระบวนการผลิตและขยายพันธุ์พืช เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของการนำไปปลูกเลี้ยง เช่น การขยายพันธุ์ในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การจัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์เพื่อรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชหายากและพืชใกล้สูญพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวถึงความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการเกษตรของ วว. ว่า ที่ผ่านมา วว.ค้นพบพรรณพืชชนิดใหม่ของโลก
๐พรรณไม้ชนิดแรก คือ จำปีสินธร ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia sirindhorniae Noot & Chalermglin เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2543 สำรวจและค้นพบ บริเวณซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืด
๐ พรรณไม้ชนิดที่ 2 มหาพรหมราชินี ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weersooriya, Chalermglin & R.M.K. Saunders มหาพรหมราชินี สำรวจค้นพบได้บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มหาพรหมราชินีนอกจากจะเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกแล้ว ยังเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic Species) ที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
๐ พรรณไม้ชนิดที่ 3 คือ มะลิเฉลิมนรินทร์ ที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum bhumibolianum Chalermglin มีความหมายว่า “มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน” สำรวจค้นพบ เมื่อปี พ.ศ. 2552 สำรวจค้นพบได้บริเวณเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย
นอกจากพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับพระราชทานนามทั้ง 3 ชนิด วว. ยังได้ค้นพบพรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วย จำปีศรีเมืองไทย (จ.เพชรบูรณ์) จำปีเพชร (จ.เพชรบุรี) จำปีช้าง (จ.เชียงใหม่) จำปีดอย บุหรงดอกทู่ ปาหนันเมืองกาญจน์ (จ.กาญจนบุรี) ปาหนันแม่วงศ์ (อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ จ.กำแพงเพชร) ปาหนันร่องกล้า (อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก) อนุพรหม ซึ่งทั้งหมดได้ทำการค้นพบโดย ศาสตรเมธี ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ซึ่งพรรณไม้ที่ค้นพบนั้นนอกจากวงศ์กระดังงา และวงศ์จำปีจำปาแล้ว ยังมีพรรณไม้วงศ์อื่นๆ ในวงศ์ชาฤาษี อาทิเช่น เศวตแดนสรวง บุหงาการะเกตุ เนตรม่วง และสุดดีดาว นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมพรรณไม้สกุลมหาพรหม เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือก และขึ้นทะเบียนพันธุ์ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ของพืชสกุลมหาพรหม ลักษณะเด่น ดอกมีขนาดใหญ่มีกลิ่นหอม สามารถออกได้ดีตลอดทั้งปี มากกว่า 10 สายพันธุ์ มีลักษณะสวยงามแตกต่างกันออกไป เช่น พรหม วว. ๑ (Phrom TISTR 1) พรหม วว. ๒ (Phrom TISTR 2) และอีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้ด้วย ทั้งนี้ วว. ยังได้มีการพัฒนาพรรณไม้ดอกเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มมูลค่ากับผู้ประกอบการในการนำไปประกอบอาชีพ คือ เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ มากกว่า 5 สายพันธุ์
นายชาวันย์ สวัสดิ์ชูโต ที่ปรึกษา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคลัสเตอร์ หรือ การรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ ซึ่งนำไปสู่การยกระดับฐานเศรษฐกิจของประเทศ SMEs หรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นับว่าเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญและมีบทบาทในการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการและผลิตภัณฑ์ สสว. และ วว. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจ SMEs ให้มีความเข้มแข็งทัดเทียมประเทศอื่นๆ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยการอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ อย่างไรก็ตามการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจนั้นๆ ได้ มิได้เกิดจากกิจการใดกิจการหนึ่งเพียงลำพัง หากเกิดจากหลายๆ กิจการที่มีความเชื่อมโยงกัน ดำเนินงานเข้าด้วยกันในลักษณะของกลุ่มที่มีศักยภาพ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่ม หรือ “คลัสเตอร์” ซึ่งเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
“การจัดงาน “มหาพรหมราชินี สดุดีพระพันปีหลวง” ในวันนี้ ถือเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจของ สสว. และ วว. ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกัน สร้างเป็นเครือข่าย ที่ให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐ ให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมไปถึงแนวทางในการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในอนาคต สสว. พร้อมที่จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันการส่งเสริม ให้ SMEs สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล” ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สสว. กล่าว