ทุเรียนพรีเมี่ยมมาตรฐาน ThaiGAP รายได้เพิ่ม 6 เท่า

ทุเรียนพรีเมี่ยมมาตรฐาน ThaiGAP รายได้เพิ่ม 6 เท่า

สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ช่วยผู้ประกอบการเกษตรไทย พัฒนาทุเรียนพรีเมียม ThaiGAP และทำฟรีซดรายเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการเกษตร "สวนทวีทรัพย์" จ.ชุมพร ในการพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ กับผลไม้หลากชนิด เช่น ทุเรียน ส้มโชกุน มังคุด เป็นต้น

ผลไม้ทุเรียนของสวนทวีทรัพย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ช่วยยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของผู้ประกอบการให้ขยายช่องทางการตลาดในสินค้าระดับพรีเมียม เช่น ส่งไฮเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบค้าส่งได้ เพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยจำหน่ายออนไลน์ได้มากขึ้น รวมถึงยังสนับสนุนการทำนวัตกรรม Freeze Dried (ฟรีซดราย) หรือเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ ให้แก่ผู้ประกอบการสวนทวีทรัพย์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถส่งจำหน่ายยังต่างประเทศได้

159722637364


น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า "โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน" หรือโครงการ ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและกลุ่มเกษตรกรด้านผักและผลไม้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร อาทิ มาตรฐาน ThaiGAP มาตรฐาน GLOBALG.A.P. และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 เพื่อเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้ยั่งยืน สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง


โครงการ ThaiGAP เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สวทช. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง สวทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งแก่ผู้ประกอบการ SME และสหกรณ์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน เพื่อเชิญชวนให้เกิดการยกระดับภาคการเกษตรของไทยโดยใช้มาตรฐาน ThaiGAP อันเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ภายใต้การให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดจากทีมผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP จาก ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

159722639654


มาตรฐาน ThaiGAP เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากตระหนักถึงภัยจากการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชในผักและผลไม้ ในต่างประเทศมีการใช้มาตรการสุขอนามัยและมาตรการสุขอนามัยพืชมาเป็นอุปสรรคทางการค้า ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้ของไทยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งมาตรฐานหนึ่งทางการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ได้แก่ มาตรฐาน GAP (จี เอ พี) ที่มีข้อกำหนดครอบคลุมระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในการผลิตตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์มและพื้นที่เพาะปลูก รวมไปถึงการจัดการพันธุ์พืช ดิน น้ำ ปุ๋ย และการจัดการศัตรูพืช พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญสำหรับเกษตรกรไทยคือ มาตรฐานเหล่านี้เขียนด้วยภาษาต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจและนำมาตรฐานมาใช้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สร้างมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของภาคเอกชน ในนาม "ThaiGAP" เป็นภาษาไทย ทำให้เกษตรกรไทยสามารถทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้ง่าย และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ ThaiGAP ทางสภาหอการค้าฯ จึงได้สร้างกลไกการรับรองที่ได้มาตรฐานโดยติดต่อหน่วยงานให้การรับรอง เช่น TUV NORD และ Control Union โดย ITAP สวทช. เป็นผู้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเกษตรในการพัฒนาระบบ ThaiGAP โดยช่วยเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญและบริหารจัดการโครงการอย่างครบวงจร

159722641666


ผลสำเร็จสำคัญของโครงการ ThaiGAP มีด้วยกันหลายด้าน ทั้งในด้านการเกิดมาตรฐานของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ด้านเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผักผลไม้ที่ผ่านการรับรองจาก ThaiGAP ด้านเกษตรกรไทยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและทางการเงินจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP จำนวน 80 ราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้กว่า 70 ชนิด คือ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ ตลอดจนมีเกษตรกรจำนวน 2 ราย สามารถยกระดับรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท/ปี หรือเพิ่มรายได้กว่า 6 เท่า รวมถึงยังมีห้างค้าปลีกพันธมิตร อาทิ แม็คโคร ท็อป เทสโก้โลตัส ซีพีออลล์ บิ๊กซี เป็นผู้รองรับผลผลิตในบางส่วนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยมีความมั่นใจในคุณภาพผลผลิตและรับซื้อในราคาเกรดพรีเมียม ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจ เพิ่มโอกาส และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้บริโภคในการบริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัย

159722643554

ด้านผู้ประกอบการ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ประธานบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด กล่าวว่า บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขายส่งผลไม้ ตั้งอยู่ที่ ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยพืชที่ขอการรับรอง ThaiGAP บนพื้นที่จำนวน 100 ไร่ ประกอบด้วย ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ส้มโชกุน มังคุด แก้วมังกร ลองกอง บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการดำเนินโครงการ "การลงพื้นที่แปลงเพื่อพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP ของ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด" โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในเรื่องให้คำปรึกษาแนะนำในเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ThaiGAP การตรวจประเมินความเสี่ยงของฟาร์ม และชี้แนะข้อบกพร่องเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐาน การจัดทำระบบเอกสารที่จำเป็นในการควบคุมความเสี่ยง และการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐาน รวมถึงให้การรับรองมาตรฐาน ThaiGAP



บริษัทฯ ได้ขอตรวจประเมินแปลงเพื่อขอการรับรองเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2562 ผลตรวจประเมินพบว่า ทำเกษตรได้สอดคล้องกับการทำมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้ปลอดภัย (ThaiGAP) เป็นอย่างดี มีการบันทึกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ใบส่งผลผลิต และยังคำนึงถึงการประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในแปลงปลูก เช่น การประเมินความเสี่ยงพื้นที่ปลูก การประเมินความเสี่ยงของน้ำ และไม่มีการใช้สารเคมีที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผลผลิต และยังมีการอบรมการทำเกษตรปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานในแปลงทุกคนได้เข้าใจ และได้ตรวจสารพิษตกค้างในเลือด สำหรับผู้ฉีดพ่นสารเคมี และมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง โดยผลจากการได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP ทำให้บริษัทฯ ได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มการเรียนรู้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงคัดบรรจุ รวมถึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยจากเคมี จุลินทรีย์ และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ สามารถสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผลผลิตจากสารเคมี ตลอดจนมีระบบตามสอบ ที่ตรวจย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าและผู้บริโภค

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดทำ "โครงการการให้คำปรึกษาการพัฒนาระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิต" โดยได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือ Freeze Dried (ฟรีซดราย) เพราะนอกจากบริษัทฯ ทำธุรกิจขายส่งผลไม้แล้ว บนพื้นที่รวม 300 ไร่ของบริษัทฯ ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ ทุเรียน มังคุด มะม่วง สับปะรด และเงาะสอดไส้สับปะรด ซึ่งมีการสร้างโรงอบแห้งผลไม้ ประกอบด้วยส่วนรับผลไม้ คัดผล บ่ม แกะเปลือก ห้องแช่แข็งลมเย็นจัด (-40 องศาเซลเซียส) ห้องพักผลผลิตแช่แข็ง ห้องเย็นเก็บผลผลิต (-20 องศาเซลเซียส) ห้องหั่นผลผลิต เครื่องอบแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ (จากประเทศไทย) ห้องบรรจุผลิตภัณฑ์ และห้องล้างอุปกรณ์

159722645892


เทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการแปรรูป คือ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือฟรีซดราย คือ การทำแห้ง (dehydration) ด้วยการแช่เยือกแข็ง (freezing) ทำให้น้ำเปลี่ยนสถานะเป็นผลึกน้ำแข็งก่อน แล้วจึงลดความดันเพื่อให้ผลึกน้ำแข็งระเหิด (sublimation) เป็นไอ ด้วยการลดความดันให้ต่ำกว่าบรรยากาศปกติ โดยมีขั้นตอนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เช่น การล้าง การปอกเปลือก การลดขนาดจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการหลักซึ่งประกอบด้วย การแช่เยือกแข็ง (freezing) การทำแห้งขั้นต้น (primary drying) และการทำแห้งขั้นที่สอง (secondary drying) โดยผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศแล้วจะสามารถคงคุณภาพทั้งคุณค่าทางสารอาหาร กลิ่น รสชาติ ของอาหารหรือผลไม้สดจริงตามวัยของผลไม้ที่นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปมากที่สุด โดยการแปรรูปดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้บริษัทฯ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถส่งจำหน่ายยังต่างประเทศได้