'ชารัด เมห์โรทรา' ไม่ยอมแพ้ 5G ปรับแผนชู 'Digital First'
เปิดบทสัมภาษณ์พิเศษ "ชารัด เมห์โรทรา" ซีอีโอ ดีแทค กับภารกิจสุดท้าทาย เปลี่ยนผ่านองค์กรท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ลั่นไม่ยอมแพ้สงคราม 5G เตรียมปรับแผนชู "Digital First"
อ่านเกมตลาด-ปรับทิศบริการ
ซีอีโอ ดีแทค กล่าวว่า " ไม่ใช่ดีแทคจะยอมแพ้ต่อการสู้รบในสงคราม 5จี แต่เราจับตาดูกำลังซื้ออยู่ตลอด และรู้ดีว่าเรามีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ในด้านการแข่งขันบางเรื่อง แต่เราจะพยายามสร้างความเข้าใจที่แท้จริง"
โดยพบว่า จังหวะนี้ลูกค้าต้องการ การสนับสนุนและการดูแลเอาใจใส่ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากภาวะดังกล่าว ทำให้การใช้โทรศัพท์มือถือของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป มีความถี่ในการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ยาวนานว่า 36 เดือน ส่วนใช้งานมือถือระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่า
"ดีแทคอ่านเกมการตลาด ทำให้รู้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง กำลังซื้อแย่ลง เราต้องเน้นบริการอีกรูปแบบในเชิงเน็ตเวิร์ค ซึ่งได้พยายามบริการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้า และลูกค้าไม่ได้ต้องการ 5จี ลูกค้าต้องการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วเพียงพอในราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางการกดดันทางเศรษฐกิจ"
ลุยทดสอบคลื่น 26 กิกะเฮิรตช์
ชารัด กล่าวต่อว่า ดีแทคจะไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารให้ล้ำสมัย เพื่อรองรับการใช้งาน และเพิ่มประสบการณ์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยต้องการให้ลูกค้าได้ทดสอบเพื่อได้รับประสบการณ์ บนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือ mmWave ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความสามารถนำมาใช้งานเพื่อความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล
ทั้งยังเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลที่มีความแม่นยำในการใช้งาน สำหรับการรองรับ 5จี ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะบนโทรศัพท์มือถือ แต่สามารถนำมาเชื่อมต่อ Massive IoT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง
“ปีนี้ดีแทคมีเป้าหมาย เพิ่มเสาสัญญาณจำนวน 20,000 สถานีฐาน เพื่อรองรับการให้บริการ 4จี และ 5จี ทั่วประเทศ รองรับการใช้งาน ที่ไม่ได้มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะพื้นที่ในเมือง ดีแทคมองว่า มีบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการด้วย TDD massive MIMO ที่มีอยู่ และไม่ได้มองว่า 5จี ไม่สำคัญ”
จี้ดึงคลื่น 3500 ออกประมูลตามสากล
ซีอีโอ ดีแทคยังให้มุมมองเกี่ยวกับ การวางแผนคลื่นความถี่ของประเทศไทยว่า รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกิจกากระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรนำคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาจัดสรรเพื่อใช้พัฒนา 5จีเนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นคอร์ แบนด์สำคัญ
เพราะ 70% ของการทดสอบทดลอง 5จีทั่วโลกเลือกใช้คลื่นในย่านนี้ เพราะมีระบบนิเวศรองรับมากเพียงพอ มีความหลากหลายและครบถ้วนมากกว่า อันจะทำให้ 5จี ที่พัฒนาอยู่บนคลื่น 3500 มี Economy of Scale มากกว่าย่านอื่น
ปัจจุบัน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการ ภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่ดีแทคยังต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องกรอบเวลา และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเตรียมพร้อมคลื่นดังกล่าวให้นำมาใช้งานได้หรือ รีฟาร์ม และกรอบเวลาในการประมูล เพื่อให้คลื่นพร้อมถูกนำมาใช้งานได้ในทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของการครอบครอง ซึ่งปัจจุบันบมจ.ไทยคม ใช้งานสำหรับดาวเทียมไทยคม 5
โดยไทยคม 5 ขณะนี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และบริษัทไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 21 ก.ย. 2564 ดังนั้น วาระเร่งด่วนของประเทศไทยในขณะนี้ คือ เรื่องการกระจายสัญญาณในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการรองรับการใช้งานสำหรับคนไทยทุกคน