GISTDA ย้อนอดีต 'ระยอง' 10 ปีผ่านภาพจากดาวเทียม

GISTDA ย้อนอดีต 'ระยอง' 10 ปีผ่านภาพจากดาวเทียม

วันนี้ (24 ส.ค.63) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ EECi ภายในวังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ขณะที่ GISTDA เผยภาพจากดาวเทียม แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยภาพพื้นที่บางส่วนของจังหวัดระยอง แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เปรียบเทียบย้อนหลังไป 10 ปี ชี้ได้ชัดว่า ระยองเติบโตอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศแทบทุกชนิด อีกทั้ง ปัจจุบันรัฐบาลมองเห็นศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออก จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเมืองใหม่ในภาคตะวันออก ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ เป็นศูนย์บริการมาตรฐานการศึกษาและวิจัย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม

159819870429

ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต (THEOS) เปรียบเทียบช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2553 จนถึง พ.ศ.2562 นอกจากจะเห็นถึงการขยายตัวของเมืองแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เป็นเมืองที่มีฐานในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร กลายมาเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ สิ่งปลูกสร้างผุดขึ้นใหม่มามากมาย พื้นที่เมืองเดิมมีการขยายอาณาเขตออกไป นอกจากนี้ ยังเกิดเป็นชุมชนใหม่และมีการตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ของตัวจังหวัด ขณะเดียวกันเส้นกราฟแสดงรายได้ของจังหวัด (GPP) และมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมก็มีค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดระยองจึงถือว่ามีความสำคัญอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศที่มีการยกระดับการพัฒนาในทุกมิติ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ได้นำนวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ EEC และจังหวัดใกล้เคียง (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) พัฒนาและติดตั้งระบบการตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระบบดังกล่าวได้เพื่อรวบรวมเอาข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมจากจังหวัดใน EEC และจังหวัดใกล้เคียงในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศดังกล่าว

159819873461

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จังหวัด “ระยอง”มีความพร้อมในการใช้งานระบบการตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ที่ติดตั้งไว้ที่ศาลากลางจังหวัดมากที่สุด มีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการสำหรับการใช้งานระบบฯ อย่างเป็นรูปธรรม และมีการเชื่อมโยงข้อมูลในมิติอื่นๆ เข้าสู่ระบบ ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 จังหวัดระยองมีโครงการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมี เข้าสู่ระบบฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ GISTDA มีอีก 1 ภารกิจในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของประเทศ เพื่อให้การจัดทำและใช้งานภูมิสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ส่งเสริมการใช้งานข้อมูลร่วมกัน สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดระยองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

159819883039

สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 คือ “ประเทศไทยมีเครือข่ายระบบออนไลน์ให้ทุกภาคส่วนใช้สืบค้น เรียกดู และดาวโหลดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สมบูรณ์ ละเอียดถูกต้อง และทันสมัย รูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ ในกิจการของรัฐ ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยสร้างนวัตกรรม และในกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดน้อยที่สุดนั่นเอง” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว