‘นิวตันฟันด์’ กลไกทุน กระทุ้งวิจัยสู่นวัตกรรม
ตั้งแต่ปี 2557ทุนวิจัย Newton Fund โดยบริติช เคานซิล และองค์กรคู่ความร่วมมือต่างๆได้จับคู่สนับสนุนนักวิจัยไทยกับสหราชอาณาจักรกว่า200ราย มุ่งเสริมสร้างศักยภาพการทำงานของนักวิจัยไทยผ่านรูปแบบต่างๆ เพื่อร่วมแก้โจทย์ด้านการพัฒนา สร้างความร่วมมือด้านวิจัย
แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ทุนวิจัยนิวตันปี 2563 มูลค่ารวมกว่า 49 ล้านบาท แบ่งเป็นทุน Institutional Links สำหรับความร่วมมือกลุ่มนักวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร และทุน Newton Fund Impact Scheme สำหรับผู้ที่เคยได้รับทุนนิวตันเพื่อทำการขยายผลงานวิจัยให้ออกมาเป็นชิ้นงานนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ครอบคลุมงานวิจัยที่เกี่ยวกับโควิด-19 โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (บีซีจี) หัวข้อในกลุ่มความท้าทายระดับโลก ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ สังคมผู้สูงวัย สังคมศาสตร์และมนุษยชาติ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทุนเชื่อมสัมพันธ์สองประเทศ
พิจารณา สมัครการ ผู้จัดการโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนนิวตัน คือ กองทุนความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือมหาอำนาจใหม่ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบงบประมาณ 1,840 ล้านบาท สำหรับดำเนินงาน 22 โปรแกรมทุน ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาได้จัดสรรทุนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัย 339 ทุน การประชุมทางวิชาการ 21 ทุน โครงการวิจัยขนาดใหญ่ 115 ทุน และสตาร์ทอัพ 90 ทุน
“ขั้นตอนการขอทุนนั้น นักวิจัยไทยต้องนำเสนอว่า สนใจงานวิจัยด้านใด มีจุดประสงค์เพื่ออะไรและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่า นักวิจัยของสหราชอาณาจักรท่านใดทำงานวิจัยคล้ายๆ กัน เพื่อดำเนินการแมทชิ่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน”
ในส่วนของทุน Impact Scheme เป็นทุนวิจัยใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านการร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเน้นงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (10 S-curve)นวัตกรรมทางการแพทย์ ยาและวัคซีนของไวรัสก่อโรคโควิด-19
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ทุนในส่วนนี้จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้กลุ่มนักวิจัย สามารถผลักดันงานวิจัยออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมที่จับต้องได้โดยเร็ว จึงเป็นเหตุผลที่เลือกเจาะจงกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งเป็นทิศทางของประเทศไทย รวมไปถึงขยายการครอบคลุมพิเศษให้รวมงานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากอนามัยเอ็น95 ชุดตรวจวินิจฉัยโรค ยาและวัคซีนของโควิด-19 ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในประเทศไทยเองและทั่วโลก
โชว์เคสวิจัยเพื่อมนุษยชาติ
ยกตัวอย่างงานวิจัย “การพัฒนาการวินิจฉัยโรคหายากในเด็ก” นำโดย ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพันธุกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แมทชิ่งกับนักวิจัย UCL แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยโรคหายากในเด็ก โดยมีแนวคิดมาจากการที่ประชากรไทยมากถึง 80% ได้รับผลกระทบจากโรคทางพันธุกรรมที่หายาก จากเดิมต้องใช้เวลาวินิจฉัยนานกว่า 7 ปี แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของสองประเทศ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคให้เร็วขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งยังช่วยขยายเครือข่ายความร่วมมือในวงการแพทย์ด้านโรคหายากในประเทศอื่นๆ อีกด้วย
ตัวอย่างถัดมาโดย ผศ.สุจินต์ ภัทรภูวดล ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับทุนนิวตันทำวิจัยร่วมกับฟิลิปปินส์ สหราชอาณาจักร พัฒนาและประยุกต์โมเดลการระบาดวิทยาของโรคขอบใบแห้ง เพื่อประเมินหาพื้นที่ที่ยีนต้านทานต่อโรค งานวิจัยดังกล่าวยังต่อยอดสู่การพัฒนา “แผนที่ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นระบบวินิจฉัยโรคข้าวขอบใบแห้งทั่วประเทศโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้สามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
“เราเลือกวิจัยเรื่องข้าวโดยใช้โรคข้าวเป็นโมเดล เนื่องจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น รัฐบาลต้องลงทุนประมาณ 30 ล้านบาทต่อข้าว 1 พันธุ์ ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 12 ปี หากสำเร็จข้าว 1 พันธุ์จะสามารถใช้งานในตลาดได้นานถึง 30 ปี สร้างผลกระทบได้มหาศาลกว่า 8,000 ล้านบาท ดังนั้น การนำพันธุ์ข้าวไปส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ใด หากเลือกได้เหมาะสม จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้นานถึง 30 ปี จึงถือได้ว่าทุนนิวตันได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และสร้างมูลค่าในด้านต่างๆ ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง”