"เอ็นไอเอ" จัดอีเวนท์เสมือนจริง ดัน ‘ไมซ์เทค’ ฝ่าวิกฤติโควิด
จับตาการจัดสองงานอีเวนท์ในรูปแบบเสมือนจริงครั้งแรกของไทย “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2020 X อินโนเวชั่นไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2020” เอ็นไอเอผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะสตาร์ทอัพกลุ่ม MARTech ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรง ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยนั้นมีทั้งการเลื่อนและยกเลิกงานประเภทต่างๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
เอ็นไอเอในฐานะองค์กรหลักที่มุ่งใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการไมซ์และเทคสตาร์ทอัพ เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูสตาร์ทอัพ ธุรกิจนวัตกรรม ให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดยได้กำหนดจัดงานในรูปแบบเสมือนจริงขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.นี้ผ่านเว็บไซต์ https://stxite2020.nia.or.th/
บูรณาการสองงานใหญ่
อีเวนท์ทั้งด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรมถือเป็นงานใหญ่ของเอ็นไอเอที่จัดต่อเนื่องทุกปีผ่านศูนย์การประชุมต่างๆ เพื่อแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงอัพเดตข้อมูลในแวดวงสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจากทั่วโลก แต่ด้วยวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบงานจากเชิง physical มาเป็นออนไลน์ตลอดวันงาน ภายใต้แนวคิด “Innovation in Times of Crisis” ประกอบด้วย 3 วิกฤติคือ โรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก
กิจกรรมหลักในงานประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ Virtual Forum งานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบเสมือนจริง เน้นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติต่างๆ, Opportunity โอกาสในการหาคู่ค้าทางธุรกิจและการประกอบอาชีพผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น ทั้ง Virtual Marketplace ตลาดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบเสมือนกว่า 200 บูธ และจับคู่ธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย รวมทั้งการพิทชิ่ง บริการให้คำปรึกษาออนไลน์จากเมนเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษากว่า 60 คน และ Virtual Job Market รับสมัครงานกว่า 600 ตำแหน่ง จากกว่า 100 องค์กร
การแสดงสดในรูปแบบ Virtual Concert จากกลุ่ม MARTech นำเสนอศิลปะ ดนตรี นันทนาการและเทคโนโลยี ที่สร้างสรรค์สตูดิโอเสมือนจริง และกิจกรรมสุดท้ายเป็นพิธีประกาศผลรางวัลอันทรงเกียรติ Prime Minister Award ให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ และพิเศษในปีนี้จะเพิ่ม 3 รางวัลแก่ผู้ประกอบการที่สามารถนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
“สองอีเวนท์นี้เป็นการรวมเพื่อความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการระดมสตาร์ทอัพ นักลงทุน เมนทอร์มืออาชีพจากวงการธุรกิจและสตาร์ทอัพ ที่พิเศษเพิ่มขึ้นมาและนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ การนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างที่มีการพูดคุยภายในงาน 1-4 ก.ย.นี้ เพื่อนำมาจับกระแสทิศทางหรือแนวโน้มนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับภาคธุรกิจนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์”
สตาร์ทอัพต้องพึ่ง Virtual World
พันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเวทีจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยน 6 กระแสเศรษฐกิจอนาคต อาทิ 1.เศรษฐกิจบีซีจี 2. อาหารในอนาคต 3.ความเหลื่อมล้ำ 4.สังคมไร้เงินสด 5.ฟื้นการท่องเที่ยวด้วยไมซ์เทค และ 6.การแพทย์ทางไกล สำหรับเป้าหมายสำคัญของการจัดงาน ไม่ใช่ยอดผู้เข้าชม แต่คือ การทำงานร่วมกัน ระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม และ แพลตฟอร์มใหม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ให้ Virtual World ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็น ประชาคม สตาร์ทอัพ เอสเอ็ม และ นักลงทุน ให้ได้มาเจอกัน
ทั้งนี้ มุมมองจาก ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) กล่าวว่า สตาร์ทอัพต้องใช้ประโยชน์จาก Virtual World ทั้งการหาแหล่งทุน พันธมิตรร่วมทุน หรือ หาลูกค้า พร้อมกับต้องระวังตัวในการลงทุนให้มากขึ้นและต้องวางแผนการเงินระยะยาวทำตัวเหมือนเอสเอ็มอี แต่ใช้ดิจิทัลมาติดปีกทางธุรกิจถึงจะอยู่รอด พร้อมกับต้องคิดนวัตกรรมเพื่อจำหน่ายตลาดต่างประเทศด้วย และรู้จักการทำงานกับภาครัฐ ถือเป็นการปรับตัวในการแข่งขันให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้