'เอนก'ชงของบกลางกว่า 170 ล้าน เร่งสร้าง 'ศูนย์ไซโคลตรอน'
'เอนก' รมว.การอุดมศึกษาฯ ชงของบกลางกว่า 170 ล้าน เร่งเดินหน้าสร้าง 'ศูนย์ไซโคลตรอน' พัฒนาการผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีทางการแพทย์และการฉายรังสีในอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งให้หายได้มากขึ้น
ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ถึงปัญหางบประมาณที่มีไม่เพียงพอในการดำเนินโครงการจัดสร้าง “ศูนย์ไซโคลตรอน” เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีทางการแพทย์และการใช้ลำอนุภาคในการฉายรังสีในอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมโครงการนี้เคยได้รับอนุมติงบประมาณในการจัดสร้าง จำนวน 880 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องไซโคลตรอน 610 ล้านบาท และค่าก่อสร้างอาคาร 270 ล้านบาท และได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ขณะที่การของบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ สาเหตุมาจากหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ให้งบประมาณนั้น ได้พิจารณาความคืบหน้าตามงวดงานแล้วคาดว่าผู้รับจ้างจะดำเนินการไม่เสร็จตามสัญญาที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือน ก.พ.2564 อย่างแน่นอน จึงประเมินว่าโครงการคงแล้วเสร็จในปี 2565 ดังนั้นจึงให้งบประมาณมาเพียงส่วนหนึ่ง คือ 189.1854 ล้านบาท จากที่ควรจะได้ทั้งหมด จำนวน 359.0456 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้รับจ้างได้แจ้งว่า จะส่งมอบงานทั้งหมดไม่เกินเดือน มี.ค.2564 และเครื่องจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2564 ตนจึงเตรียมเสนอของบกลางจำนวน 169.8602 ล้านบาท เพื่อให้โครงการนี้ไม่หยุดชะงัก เพราะถือเป็นประโยชน์สำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สามารถวินิจฉัยและติดตามการรักษามะเร็งได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้มากขึ้น
ที่สำคัญจะสามารถให้บริการทางการแพทย์กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 27 แห่ง มีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 30,000 ราย/ปี ได้ใช้ประโยชน์ และสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าสารจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ 201TlCl และ 67Ga-Citrate ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 100% ทำให้ค่ายามีราคาลดลง เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 430 ล้านบาท และยังสนับสนุนความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในภูมิภาคอาเซียน
ศ.(พิเศษ) เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว โครงการจัดสร้าง “ศูนย์ไซโคลตรอน” ยังสามารถใช้ลำอนุภาคพลังงานสูงจากเครื่องไซโคลตรอน ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์กำลัง (Power Electronic) ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ อีกทั้ง ยังสามารถใช้ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ธาตุด้วยเทคนิคการเหนี่ยวนำให้เกิดการเรืองรังสีเอกซ์ด้วยอนุภาค การถ่ายภาพด้วยนิวตรอน การผลิตแผ่นกรองต่างๆ และแผ่นเยื่อสำหรับปฏิกิริยาในการแลกเปลี่ยนไอออน
ในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไซโคลตรอนสามารถผลิตไอโซโทปรังสีสำหรับเทคนิคสารติดตามทางชีวภาพการศึกษา วิจัยทางการแพทย์ การศึกษาวิจัยทางด้านการเกษตรและปรับปรุงขยายพันธุ์พืช สนับสนุนงานวิจัยด้านฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคและฟิสิกส์ด้านการปรับปรุง คุณสมบัติของวัสดุและการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการใช้ลำอนุภาคพลังงานสูง และเป็นการสร้างฐานความรู้ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับประเทศไทยอีกด้วย