'สเปซ-เอฟ’ตอบเทรนด์อาหารโลก โชว์ศักยภาพสู่การลงทุน
เอ็นไอเอปักหมุดกรุงเทพฯสู่“ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” ผนึกไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปเดินหน้าโครงการ“สเปซ-เอฟ”บ่มเพาะสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมอาหาร ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคนิวนอร์มอลอย่างเป็นรูปธรรม
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ กล่าวว่า เอ็นไอเอเล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างโอกาสให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” ผ่านกิจกรรมโครงการสเปซ-เอฟ ประกอบด้วยการบ่มเพาะ (Incubator Program) และการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) เพื่อผลักดันและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้สามารถสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับเทรนด์นวัตกรรมอาหารโลก ประกอบด้วย 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร
“โครงการสเปซ-เอฟ รุ่น 1 ที่เพิ่งจบไปนั้น ช่วยสร้างพัฒนาการให้แก่สตาร์ทอัพอย่างมาก จากที่มีเพียงแนวคิดในช่วงแรกแต่ตอนนี้หลายผลิตภัณฑ์มีวางขายตามซูเปอร์มาร์เกตและช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) จนนำไปสู่การลงทุนในเซกเตอร์ต่างๆ"
ทั้งนี้ หลังจบโครงการฯ เอ็นไอเอยังคงมีกลไกที่ช่วยสนับสนุนและต่อยอดสตาร์ทอัพในโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ด้านเงินทุน การสร้างเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตลาดผ่านงาน Startup Thailand , Innovation Thailand Expo
อัดงบหนุนดีพฟู้ดเทค
ด้าน นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า โครงการฯ ริเริ่มในปีที่ผ่านมาผ่านความร่วมมือของเอ็นไอเอ มหาวิทยาลัยมหิดลและไทยยูเนี่ยน ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนสร้างระบบนิเวศของฟู้ดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
“เราเชื่ออย่างยิ่งว่า นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารในวงกว้าง เพราะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน เรามีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่าร้อยคนทำงานที่ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ และสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ”
สำหรับภาพรวมของฟู้ดเทคโนโลยีนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่จะเติบโตได้อีกมาก แม้ว่าปัจจุบันตลาดฟู้ดเทคในไทยจะมีขนาดเล็ก แต่ประเทศไทยเติบโตและมีชื่อเสียงได้จากอุตสาหกรรมอาหารดั้งเดิม ซึ่งเติบโตได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของประเทศที่จะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแบบเดิมสู่อุตสาหกรรมอาหารแบบใหม่ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้พัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้น
“ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคนิวนอร์มอลนี้ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร ถ้าเราผลักดันในส่วนนี้ได้ ก็จะเกิดสตาร์ทอัพและบริษัททางด้านอาหารรูปแบบใหม่มากขึ้น ตรงจุดนี้จะเป็นโอกาสที่สร้างการเติบโตให้กับประเทศอีกครั้ง เราได้รับอนุมัติจากบอร์ด 30 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมไว้สำหรับ 3-5 ปี เพื่อมาใช้ในการลงทุนกับสตาร์ทอัพในส่วนนี้ จากปัจจุบันร่วมลงทุนไปแล้ว 3-4 สตาร์ทอัพที่เกิดจากโครงการนี้ โดยเป็นเรื่องของโปรตีนแมลง, แป้งสูตรพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจากสตาร์ทอัพสิงคโปร์และที่อยู่ระหว่างศึกษาติดตามคือ นวัตกรรมช่วยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ธีรพงศ์ กล่าว
เล็งขยายสเกลต่อยอดธุรกิจ
ศิริเพ็ญ สุนทรมั่นคงศรี ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัท เซซามิลค์ ฟู้ดส์ จำกัด นำเสนอ “น้ำนมทางเลือกผลิตจากงา” ไม่มีส่วนผสมของนมวัว ถั่วเหลือง เพื่อตอบความต้องการของผู้ที่แพ้นมวัวและโปรตีนถั่ว ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงวิธีรับประทานงาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
“งาอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ถือได้ว่าเป็น Super Food แต่การนำไปประกอบอาหารทั่วไปจะทำให้ได้ประโยชน์เพียงน้อยนิด อีกทั้งร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินจากงาได้โดยตรง เราจึงสกัดให้อยู่ในรูปแบบของน้ำนมเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ 100% เกิดประโยชน์สูงสุด”
เซซามิลค์ได้ลอนซ์สู่ตลาดเมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมาใน 500 ร้านค้าทั่วประเทศที่เป็น Modern Trade และ Healthy Shop อีกทั้งส่งออกไปยังญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเก๊าและเวียดนาม พบว่าผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอลที่ใส่ใจด้านความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคที่แพ้นมวัวหรือนมถั่วเหลืองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงถือเป็นโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์ทางเลือกนี้
โดยสตาร์ทอัพที่ร่วมโชว์ผลงานทั้งสิ้น 7 ทีม ได้แก่ Anrich3D 3D-Printing สำหรับการออกแบบโภชนการอาหารรายบุคคล Let’s Plant Meat เนื้อจากพืชที่เหมาะกับอาหารเอเชีย Artificial Anything (EIS) เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิตเครื่องดื่ม Qualifresh เซ็นเซอร์ควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บและขนส่งสินค้าด้านอาหาร Advanced Green Farm เทคโนโลยีการเพาะปลูกผำ/ไข่น้ำ พืชตระกูลแหนโปรตีนสูง More Meat เนื้อจากพืชที่ส่งตรงถึงร้านอาหารและผู้บริโภค และ Sesamilk นมทางเลือกผลิตจากงา