เปิดเวทีฉายกลยุทธ์ในยุค Never Normal สร้างทางรอดวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE)

เปิดเวทีฉายกลยุทธ์ในยุค Never Normal สร้างทางรอดวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE)

ถอดวิสัยทัศน์กูรู เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal ชู ‘ทางเลือก’ ยึดหลัก 4 NO และ 5S รับมือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ผ่านความคิดสร้างสรรค์ พร้อมตั้งรับด้วยแนวคิด ‘ยั่งยืน’ ทยานสู่ทางรอดบนฐานความเรียบง่าย และปลอดภัย

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา “UpImpact by Banpu Champions for Change - เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal” ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์สำหรับผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise (SE) และบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์เชิงสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง อีกทั้งเชื่อว่า SE จะเป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในยุค Never Normal ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

160000772714

สร้างโมเดลใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) เปิดเผยถึงมุมมองด้านการทำกิจการเพื่อสังคมและองค์ความรู้ในการฟื้นฟูธุรกิจหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในงานสัมมนา “UpImpact by Banpu Champions for Change - เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal” ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายการทำธุรกิจเพื่อทางรอดที่ยั่งยืน” ว่า ยุคที่โลกต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัย สิ่งที่เราต้องตัดสินใจในการประคองธุรกิจหลายๆอย่างจะเกี่ยวข้องกับการดูแลพนักงาน เนื่องจากเราเป็นกิจการเพื่อสังคม การที่จะเดินต่อไปในอนาคตเราจะต้องคำนึงถึงตัวพนักงาน และสวัสดิการของเขา

ในปีนี้แม้ยอดขายไม่ดี แต่ในแง่ของการจัดการต้นทุน และการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขวัญกำลังใจพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงเน้นในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการภายใน และปีหน้าจะเห็นผลว่าเราดำเนินงานสำเร็จหรือไม่ พร้อมกับนำไปสู่การวางแผนลดต้นทุน หรือหารายได้เพิ่ม

“เหตุการณ์โควิดสิ่งที่สมาคมฯค่อนข้างเป็นห่วง คือสถานะของสมาชิก มีการทำแบบสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเพื่อสังคม พบว่าปัญหาหลักๆ คือ 1.กระแสเงินสด 2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะธนาคารไม่มีเกณฑ์ลดหย่อนการปล่อยกู้จึงค่อนข้างลำบาก ซึ่งจะส่งผลให้ต้องไปพึ่งพา Grant หรือ Angle fund ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค และประชาชนโดยกว้างว่า SE คืออะไร เพราะที่ผ่านมาความจำกัดความถูกขีดไม่ชัด ดังนั้นผู้บริโภคอาจแยกไม่ออกและได้รับความคุ้มค่าไม่เท่าเทียมส่งผลให้ SE ประสบปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก”

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวเสริมว่า กิจการเพื่อสังคม หรือ SE คือการที่เราต้องใช้ธุรกิจเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาสังคม และหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้นและด้วยกลไกของธุรกิจขนาดใหญ่เราอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด และสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือ “ความเข้าใจ” ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัญหาคืออะไร และจะออกแบบโซลูชั่นมาแก้ปัญหาได้อย่างไร จึงจะเป็นทางรอดของการทำธุรกิจในระยะยาว

“ดอยตุงเราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่จะทำด้วยแนวคิด Profit with purpose หมายถึงการทำธุรกิจให้มีกำไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย และ Business with a heart หรือทำธุรกิจด้วยหัวใจ ซึ่งอาจจะไม่เกิดผลภายในวันนี้แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น การลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในองค์กร และ inclusive economy ต้องมีความชัดเจน ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการ จะนำไปสู่รายได้ที่เกิดขึ้นในซัพพลายเชน” ขณะเดียวกันทุกวันนี้ความต้องการของคนยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องการกิน ซื้อจ่ายใช้สอย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือฮาวทู เราต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้าสู่เทรนด์ออนไลน์ ดึงแมชชีนเลินนิ่ง เอไอ เชื่อมความสัมพันธ์ของดาต้า นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และสร้างให้กลายเป็นแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์

160000774295
ล้างทฤษฎีเดิม ปั้นเครื่องมือฝ่าวิกฤติ

อาจารย์ เอกก์ ภัทรธนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และการตลาด จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กูรูด้านการตลาด Consumer Insight กล่าวว่า โควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ “ฐานวิถีใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” (Never Normal) กลายเป็นความท้าทายทางการตลาด ที่หลักคิดแบบเดิมใช้ไม่ได้ ดังนั้นการทำตลาดบนฐานใหม่นี้นักการตลาดต้องหาความต้องการของผู้บริโภคให้เจอ เพราะไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ดังนั้นการทำการตลาดของนักการตลาดจะต้องเปลี่ยนตาม

ฐานผู้บริโภคในยุคโควิด-19 เป็นฐานที่เกิดจากความกลัว และความกังวลวิตกเชื้อโรค จึงเกิดเป็นความท้าทายต่อนักการตลาดทั้ง 4 ด้านคือ 1. No Touch ลดการสัมผัส ลดปฏิสัมพันธ์ ลดบริการใกล้ชิด เพราะปัจจุบันลูกค้าเปลี่ยนไปและไม่อยากมีประสบการณ์ร่วมกับใคร 2. No Share ลดการแบ่งปัน ลดงานสาธารณะ ลดการใช้ร่วม พฤติกรรมนี้กระทบหลายธุรกิจ โดยเฉพาะแชริ่งอีโคมีทั้งบริการรถโดยสาร ที่พักอาศัยเพื่อท่องเที่ยว โคเวิร์กกิ้งสเปซ 3.No Move ลดการเดินทาง ลดการท่องเที่ยว ลดการเคลื่อนที่ 4. No Add-on ลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็น ลดความหรูหราและหน้าตาในสังคม เมื่อคนต้องอยู่บ้านไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในสังคม สินค้าลักชัวรี่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้

อาจารย์เอกก์ กล่าวต่อไปว่า “ความยั่งยืน” ที่ถือเป็นอาวุธทรงพลังให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ในยุคเนเวอร์นอร์มอลนี้ คือ กิจการเพื่อสังคม ที่มีโมเดลธุรกิจมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสร้างผลกำไร เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืน โดยเราต้องใช้แนวคิด SE 4.0 เป็นกุญแจไขสู่ทางรอดธุรกิจหลังโควิด ที่จะต้องคำนึงถึง4 ปัจจัยคือ 1.ต้องมีทักษะ agility 2.ต้องเข้าใจ behavior ของลูกค้า 3.ต้องมี Creativity 4.ต้องเข้าใจ Digital Society

“หากสามารถสร้างโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ก็จะเป็นอีก “ทางรอด” ของธุรกิจ ส่วนสูตรการแก้ปัญหาในช่วงโควิด-19 มีด้วยกัน 5S ดังนี้ 1.Safety ต้องทำให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่จับต้องได้ อาทิ สวิตช์ที่ไม่ต้องสัมผัส 2. Security สร้างความปลอดภัยและความสบายใจหลังจากซื้อสินค้า เช่น ประกันภัย 3.System พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อเป็นอีกบริการให้เลือกใช้ เพราะวันนี้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการสั่งสินค้าออนไลน์ จึงต้องมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วย และ CRM เข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าถึงลูกค้า 4.Sending พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ต้องการเดินทางในช่วงนี้จึงต้องมีการปรับบริการสู่โหมดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคที่บ้าน 5.Society เมื่อสังคมเกิดปัญหาเราต้องใช้เครื่องมือใดๆก็ตามเพื่อแก้ปัญหาสังคม และธุรกิจก็เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมและหรือสิ่งแวดล้อมได้ เราเรียกสิ่งนั้นว่า SE หรือกิจการเพื่อสังคม”

160000792036

ด้านนางสาวธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Noburo (โนบุโระ) Fintech Startup แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการสวัสดิการทางด้านการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท กล่าวว่า จากการที่เป็นสตาร์ทอัพและขาหนึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมในการช่วยแก้ปัญหาสังคม เมื่อเข้าช่วงโควิดและมีวิกฤติเกิดขึ้น การที่เราจะบลานซ์เรื่องของสังคมไปพร้อมๆกันทำได้ยากมาก ซึ่งเบื้องต้นเราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไร มีเงินทุนเท่าไร และไปต่อได้แค่ไหน ทั้งจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไร เพราะคนที่เริ่มทำธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมจะดำเนินการด้วยอุดมการณ์อย่างเดียวไม่รอด ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ถ้าปราศจากการวางแผนที่รัดกุมและการดำเนินที่ถูกทาง

“สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือการวางแผนทางการเงินบลานซ์รายรับ-รายจ่าย และคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ค่าใช้จ่าย และสินเชื่อ และมองว่าการที่เราจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ต้องตอบปัญหาความเจ็บปวดของผู้คนให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว Profit ผลกำไร จะมาพร้อมกับ Purpose พันธกิจในการแก้ปัญหาสังคมเสมอ เมื่อสองส่วนนี้ผสมกันอย่างลงตัวจึงทำให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ”