‘แอทโฮม’ เอ็ดเทคมิติใหม่ เปิดโฉมการศึกษาอนาคต
“แอทโฮม (AT HOME)" แอพพลิเคชั่นกวดวิชาที่สามารถการันตีคุณภาพผู้สอนหรือติวเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเรียนออนไลน์ที่มาแรงในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยได้คัดสรรติวเตอร์ชั้นนำ พร้อมแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้เรียนได้ทุกดีไวซ์ และเมื่อไหร่ก็ย่อมได้
หลังจากเปิดให้บริการไปเมื่อเดือน ก.ค. 2562 - ปัจจุบัน มีจำนวนผู้เรียนเพิ่ม 483.34% แบ่งเป็นผู้เรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 50:50 มียอดแอคทีพเกือบทั้งหมด อีกทั้งมีการเรียนต่อเนื่องสูงสุด 5 ชั่วโมง และเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมงโดยประมาณ ส่วนจำนวนดาวน์โหลดทั้งจากฝั่งไอโอเอสและแอนดรอยด์เพิ่มขึ้น 418.51% รายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 708.82% ส่วนวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา)
กวดวิชามิติใหม่ผ่านแอพฯ
หลุยส์ คณาภรณ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท อีที เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “แอทโฮม (AT HOME)” มองเห็นจุดสำคัญของ “การศึกษา” สำหรับทุกคนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จึงต้องการยกระดับผู้ช่วยทางการศึกษาอย่าง “กวดวิชา” ให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ทุกส่วน ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การศึกษากระจายตัวไปที่ใดก็ได้ และไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้
“การเรียนบนช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นมานานแล้ว จากการที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งเรื่องดิจิทัลดิสรัปชั่นหรือแม้กระทั่งการสนับสนุนจากภาครัฐและนักลงทุน ความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่สอนในโรงเรียน บุคลากรที่มีคุณภาพขาดแคลน หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่วิชาชีพครูมีความยากลำบาก ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจะมาช่วยสนับสนุนให้การศึกษานอกระบบเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะเราไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในระบบได้ แต่เราอยากจะเป็นผู้ช่วยเสริมให้ผู้เรียนใช้เวลานอกห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
AT HOME เป็นเอ็ดเทคสตาร์ทอัพที่ไม่ได้มองแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็น “เอ็ด+เทค” ที่นำสิ่งดีๆ แบบดั้งเดิมมาผสานเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยทำให้คอนเทนท์คุณภาพสามารถกระจายให้เด็กเข้าถึงได้ในทุกสถานที่ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ทุกดีไวซ์อย่างไร้รอยต่อ อาทิ แท็บเลต สมาร์ทโฟน พีซี
พลิกโฉมการศึกษาไทย
จิ๊บ ชุติมณฑน์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า เริ่มแรกจากการที่ได้ไปทำสตาร์ทอัพที่จีน แล้วเห็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดความสนใจนำมาพัฒนาการศึกษาของไทย และได้ชักชวนเพื่อนทีมเทคโนโลยีที่เคยทำงานกับบริษัทอาลีบาบามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม จนกระทั่งสำเร็จเป็นแอพพลิเคชั่น “แอทโฮม” ที่ระบบหลังบ้านมีความเสถียรอย่างมาก จากนั้นจึงเริ่มเดินสายหาพาร์ทเนอร์มาร่วมทำงาน จนประสบผลสำเร็จด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมติวเตอร์มาไว้มากที่สุด
ขณะเดียวกันเมื่อสถาบันกวดวิชาต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่การเรียนผ่านออนไลน์ รวมทั้งบรรดาสตาร์ทอัพที่กระโดดเข้ามาชิงสัดส่วนเค้กก้อนนี้ ทำให้การเรียนออนไลน์เป็นที่แพร่หลาย จึงเป็นโจทย์ให้ “แอทโฮม (AT HOME)” ต้องสร้างจุดเด่นอย่างไรที่ทำให้ไปต่อได้และแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะตัวแพลตฟอร์มเจ้าอื่นก็สามารถพัฒนาได้เหมือนกัน
จุดแข็งของแอทโฮมที่ถือเป็นเรือธงคือ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์มและโปรเจคใหม่ๆ ตลอดเวลา 2.คุณภาพอาจารย์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 25 คน สามารถการันตีได้ว่า ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ถูกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ พี่ตุ้ย THE TUTOR ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ระดับมัธยมปลาย 3.มีระบบการทดลองเรียนฟรี 6 ชั่วโมงในแต่ละคอร์ส เพื่อช่วยการตัดสินใจของผู้เรียนและผู้ปกครอง
“เราออกแบบภายในแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานง่าย ครอบคลุมทุกระดับชั้นทุกวิชา ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทาง Play Store และ App store ปรับระบบการเล่นวิดีโอได้เหมือนยูทูป เช่น แสง เสียง สปีด มีระบบดาวน์โหลดเอกสาร และสามารถสอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์ได้โดยตรงในช่องคำถาม"
ส่วนแผนธุรกิจของแอทโฮมนั้น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ที่เน้นคอนเทนท์ในแง่ของวิชาการ แต่มีแผนการที่จะขยายไปสู่การพัฒนาทักษะมากขึ้นทั้งซอฟต์สกิลและฮาร์ดสกิล ที่ผู้เรียนจะต้องรู้นอกเหนือจากวิชาการ อาทิ กระบวนการตัดต่อ อีกทั้งตัวคอร์สเรียนจากเดิมที่เป็นเทอมอย่างเดียวก็มีการปรับคอร์สให้มีลักษณะสั้นลง โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความพึงพอใจของผู้เรียนยุคใหม่
'คลิก' เรียนง่ายแค่ปลายนิ้ว
แผนการดำเนินงานต่อไป ชุติมณฑน์ กล่าวว่า จะมีการพัฒนาโปรแกรมที่เป็นคลังข้อสอบเพื่อให้เด็กทำโจทย์บนแพลตฟอร์มได้ทุกดีไวซ์และประมวลผลออกมาแบบเรียลไทม์ โดยจะมีลักษณะหลายรูปแบบ เช่น แบบฝึกหัดทั่วไป การสอบจากชุดข้อสอบจริง เมื่อทำจบบทก็จะนำ “เอไอ” มาวิเคราะห์ จุดเด่น จุดด้อยที่ต้องพัฒนา และเก็บเป็นสถิติของตัวเองว่ามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เด็กสามารถค้นหาตัวเองได้มากขึ้น
“เพราะปัญหาหลักๆ ของเด็กปัจจุบันคือ ยังไม่ค้นพบตัวเอง ฉะนั้น นอกจากวิชาการที่ใช้สอบหรือวัดสถิติของผู้เรียนแล้ว เราจะสามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าเขาถนัดวิชาใดสำหรับนำไปแมทซ์สกิลที่มีในส่วนของสกิลวิชาการ หรืออาจจะเป็นลักษณะนิสัย ปัจจัยในการเลือกการทำงานของเขา เพื่อให้สามารถเลือกเรียนได้อย่างตรงจุดตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกขณะ”
ส่วนภาพรวมการแข่งขันของ “เอ็ดเทค” เธอมองว่า ยังไปต่อได้ยิ่งในช่วงหลังโควิด มีคนกระโดดลงมาเล่นในสนามนี้มาก เพราะไม่มีข้อจำกัด เหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วย ในยุคปัจจุบันก็เหมือนกันเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้สามารถลดข้อจำกัดความเป็นสถานที่ เวลา ได้มากขึ้น เปิดการเข้าถึงและเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น ทำให้การเรียนรู้ไร้ขีดจำกัดมากขึ้น ไม่ได้อยู่เพียงในกรอบห้องเรียนอีกต่อไป
แต่หากเปรียบเทียบการเติบโตกับประเทศจีน ซึ่งอัตราโตเร็วมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานรองรับ อีกทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริม ขณะที่ประเทศไทยเรา ทางรัฐบาลยังไม่ได้เปิดกว้าง อีกทั้งกฎหมายบางข้อยังคลุมเครือ ดังนั้น หากมีการส่งเสริมมากขึ้น ตลาดของติวเตอร์ออนไลน์จะเติบโตมากขึ้นเช่นกัน