วว.ชวนผู้ประกอบการอัพเดต 'นวัตกรรมการผลิต' ในงาน ProPak Asia
วว.เตรียมโชว์ผลงานวิจัย บริการอุตสาหกรรมครบวงจรตลอดทั้ง value chain ในการผลิตสินค้า เสริมแกร่งผู้ประกอบการในงาน ProPak Asia 2020 ร่วมขับเคลื่อน สร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “ProPak Asia 2020” หรือ งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ แห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 28 โดย วว. พร้อมนำผลงานวิจัย บริการ ครบวงจรตลอด value chain การผลิตสินค้าเข้าร่วมจัดแสดง เพื่อร่วมขับเคลื่อน สร้างโอกาสทางธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการ ช่วยสร้างสินค้าให้มีความแตกต่าง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ วิกฤตโควิด-19 ทำให้มองเห็นทั้งปัญหาและชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างชัดเจน ภาคธุรกิจต้องเร่งสร้างผลิตภัณฑ์/สินค้าที่มีความแตกต่าง ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคซึ่งต้องการสินค้าที่มีมาตรฐาน ความปลอดภัย และให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าผ่านทั้ง E-commerce และออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้ วว. จะนำผลงานวิจัยและบริการอย่างครบวงจรตลอดทั้ง value chain ในการผลิตสินค้าเข้าร่วมจัดแสดงในงานดังกล่าว ได้แก่ การได้มาของวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตสารสกัด กระบวนการแปรรูป การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับจำหน่ายผลิตผลสดออนไลน์ บรรจุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการตลาดจากโครงการ Brand DNA โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ Show Case ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้วยเทคโนโลยี วว. พร้อมนำเสนอผลงานที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ วว. ยังจะมีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “กุญแจสู่ความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบสู่ท้องตลาด” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าให้สามารถวางจำหน่ายได้จริงและตอบโจทย์ผู้บริโภค ได้แก่ การเลือกใช้และจัดหาวัตถุดิบ ส่วนผสมและสารเติมแต่ง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง การประเมินอายุการเก็บผลิตภัณฑ์อาหารและการทดสอบบรรจุภัณฑ์อาหาร การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ วว. ยังส่งนักวิชาการร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาเรื่อง “การทำการตลาดและจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ” และเข้าร่วมการเสวนาพิเศษ หัวข้อเรื่อง “ความท้าทายในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด”
วว. พร้อมเป็น Total Solution ช่วยผู้ประกอบการด้วย วทน. อย่างครบวงจร ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง เพื่อร่วมขับเคลื่อน สร้างโอกาสทางธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ผลงานที่ วว. จะนำมาแสดงในงาน ProPak Asia 2020 จะช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัทอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆที่ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตามโควิด-19 มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบทั้งเชิงลบ ที่ทำให้ปริมาณการค้าการลงทุนลดลง ส่วนเชิงบวกทำให้เกิดลู่ทางในการค้าขาย การลงทุน ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การค้าขายแบบออนไลน์มากที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์
งาน “ProPak Asia 2020” ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2563 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ ไบเทค บางนา ซึ่งจะจัดขึ้นแบบ New normal โดยนำรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน กระตุ้นการปรับใช้เทคโนโลยีในการผลิตและบรรจุภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญมากต่อธุรกิจในวันนี้ เนื่องจากช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์เดิมให้สูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายและตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ในงาน ProPak Asia 2020 จะนำผลงานกว่า 500 ชิ้น จากการประกวดโครงการบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 ไปร่วมจัดแสดงและมีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวดด้วย เพื่อถ่ายทอดความรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ที่จะทำให้คนคุ้นเคยกับการขายสินค้าทางตรงสู่ผู้บริโภคเร็วขึ้น ปัจจุบันนับว่ามีความสะดวกด้วยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งระบบอีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้หลังจากนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่พฤติกรรมการบริโภคและการซื้อสินค้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางนี้ แม้นว่าการส่งออกหลากหลายจะติดลบ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่สินค้าด้านอาหารติดลบประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องตามให้ทันเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารจานเดียว อาหารปรุงสด บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารหลากหลายเมนู ที่ส่งถึงบ้าน ต้องมีการเลือกใช้อย่างเหมาะสม สามารถรักษาคุณภาพสินค้าให้คงอยู่ได้นาน สะดวกต่อการขนส่ง มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจเรื่องการปลอดเชื้อให้แก่ผู้บริโภคได้
นายนพดล ศรีพัฒนพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตร แม้นว่าเทคโนโลยีบางอย่างจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ แต่หากเทียบกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีนั้นๆก็ถือว่าคุ้มค่า ทั้งนี้นวัตกรรมมีความสำคัญกับการเกษตรในปัจจุบันและอนาคต นักวิชาการไทยมีความเก่ง มีความเชี่ยวชาญไม่แพ้ชาติใดในโลก และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ เอื้อมถึง จับต้องได้ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน ProPak Asia 2020 กล่าวว่า จากการได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ประกอบการและบริษัทชั้นนำของโลก ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการผลิตและผู้ประกอบการไทยด้วยการสร้างมาตรฐานและคุณภาพที่ผ่านมา โดยเห็นว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตในทุกระดับ ผู้ประกอบการมีความรู้ความสามารถในการปรับตัว ทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการใช้ข้อได้เปรียบด้านคุณภาพและความหลากหลายของวัตถุดิบภายในประเทศมาผลิตและเพิ่มมูลค่า ทั้งนี้แม้ไทยจะยังอยู่ในภาวะโควิด-19 แต่เริ่มเห็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสินค้าจำเป็น เช่น กลุ่มอาหาร ยา-เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์ ที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น และน่าจะฟื้นตัวก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงประเทศไทยยังได้รับการยอมรับว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้คู่ค้าจากทั่วโลกมีความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์