'Hyperm&CheckMate' พลิกโฉมเกษตรไทย ส่ง ‘เอไอ-ไอโอที’ ประจำหน้าฟาร์ม
อุตสาหกรรมฟาร์มโคนมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อสตาร์ทอัพน้องใหม่สายดีพเทคผนวกรวมเทคโนโลยีชีวภาพเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และ IoT เข้าไปเป็นผู้ช่วยเกษตรกรถึงหน้าฟาร์มในรูปแบบโซลูชั่น “ไฮเปิร์ม(Hyperm)” และ “เช็คเมท(CheckMate)
ล่าสุดได้สานต่อเส้นทางความสำเร็จในโครงการ “Inno4Farmers” กับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่านกิจกรรมการพัฒนาบ่มเพาะเทคโนโลยีและธุรกิจ โดยร่วมทำ Co-Creation กับบริษัทชั้นนำในภาคเกษตร
เพื่อส่งต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเกษตรกรและแก้ปัญหาธุรกิจนวัตกรรมเกษตร พร้อมโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึก และทดสอบการใช้งานกับลูกค้าจริง จนได้รับการการันตีฝีไม้ลายมือด้วย “รางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพสายเกษตร (The best Agtech startup)”
โชว์แพลตฟอร์ม ‘เทคโนโลยีเชิงลึก’
วรรธนะ พงษ์เสนา Co-founder บริษัท ออลนิวเจน กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึง จุดเริ่มต้นของทั้ง 2 แพลตฟอร์มมาจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรในช่วงที่กำลังศึกษาปริญญาเอก จากนั้นพบเห็นปัญหาโดยจุดแรกที่เป็นในเรื่องของ “น้ำเชื้อ” ตามด้วยปัญหาการ “จับสัด” ที่ยังไม่มีความแม่นยำ และต้องมีการติดตามพฤติกรรมของวัวตลอดเวลาว่าจะผสมพันธุ์ในช่วงใด
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พัฒนาโซลูชั่นแพลตฟอร์มเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีที่มีในมือ ซึ่งนั่นก็คือ เอไอและไอโอที โดยทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ทั้ง “เช็คเมท” และ “ไฮเปิร์ม” เป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทำฟาร์มได้ง่ายขึ้น สมาร์ทขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตน้ำนมดิบและมีรายได้จากการเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้น
ออลนิวเจนฯ เป็นสตาร์ทอัพที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อที่จะช่วยเพิ่มรายได้ ประสิทธิภาพ และกำลังการผลิตให้กับเกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ โดยเซกเตอร์แรกที่นำร่องคือ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศไทยถูกลิมิตด้วยคำว่า “การผสมไม่ติด” เกษตรจะต้องมีการผสมเทียมให้วัวตั้งท้องจึงจะมีน้ำนมออกมาจำหน่าย
พลิกโฉม “ฟาร์ม” ไทย
จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยจับสัดแม่นยำเพียง 22% และเมื่อทำการผสมเทียมแล้วมีวัวตั้งท้องเพียง 16% จึงเป็นเหตุผลให้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถตรวจจับการเป็นสัดของวัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถส่งการแจ้งเตือนการเป็นสัด และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมเทียมผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นของเกษตรกรโดยตรง
เช็คเมทมีค่าติดตั้งอุปกรณ์พื้นฐานและแอพพลิเคชั่นอยู่ที่ 14,900 บาท (ต่อโคนมน้อยกว่า 50 ตัวจ่ายครั้งเดียว) และมีค่าเช่าอุปกรณ์ปลอกคอสำหรับติดที่วันที่ต้องการรอจับสัดอยู่ที่ 1,290 บาทต่ออุปกรณ์ต่อปี ตั้งเป้าส่วนแบ่งทางการตลาดภายใน 3 ปี คาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 6% ของโคนมในประเทศไทย จำนวน 26,700 ตัว
ทั้งนี้ เช็คเมทได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน 5 แสนบาท และเอ็นไอเอในโครงการ Open innovation 1.5 ล้านบาท ทำให้สามารถพัฒนาชิ้นงานต้นแบบ ซึ่งได้ทดสอบในฟาร์มจริงแล้ว โดยติดตั้งปลอกคอวัวประมาณ 100 ชิ้น สำหรับฟาร์มในระบบมหาวิทยาลัย พบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำสูงถึง 95% ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่มีวัวรอจับสัดอยู่ราว 50 ตัว มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนบาท ด้วยเงินลงทุนเพียง 6 หมื่นบาท ส่วนในอนาคตคาดว่าจะขยายสเกลการทดสอบโปรดักท์อีก 5 ฟาร์ม ภายในเดือน เม.ย 64 โดยจะอยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงอย่าง จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ
จากการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) คาดหวังว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยที่มีจำนวนราว 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายการเติบโตไปต่างประเทศได้ในอนาคต ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและเพิ่มประสิทธิผลของการทำการเกษตรไม่น้อยกว่า 60%
ขยับสู่ฟาร์มสุกรเครือซีพี
ส่วนอีกโปรดักท์คือ “ไฮเปิร์ม” นวัตกรรมน้ำเชื้อโคนมแช่แข็งที่ผ่านการคัดคุณภาพพิเศษ โดยใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์เอไอคัดกรองเฉพาะตัวอสุจิที่มีชีวิต มีการเคลื่อนที่ดีและไม่เป็นอสุจิผิดปกติ นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเชื้อโคนมแช่แข็ง ที่จะช่วยลดจำนวนครั้งที่เกษตรกรต้องทำการผสมเทียม
เนื่องจากน้ำเชื้อของเกษตรกรที่ใช้ในการผสมเทียมในประเทศไทยเกษตรกรจะต้องผสมเฉลี่ยมากถึง 3 ครั้ง จึงจะผสมติดทำให้เกิดปัญหาอัตราการปฏิสนธิต่ำกว่า 30% ซึ่งมีความสูญเสียเกิดขึ้นคิดเป็น 16,354 บาทต่อโคนม 1 ตัว จึงได้คิดค้นนวัตกรรมตรวจวิเคราะห์คุณภาพสเปิร์มดังกล่าว และอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรระดับนานาชาติ ส่งผลให้สามารถทำการคัดสเปิร์มที่มีคุณภาพมาผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง อีกทั้งยังลดจำนวนครั้งการผสมเทียมเหลือเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
“เรามีโอกาสร่วมงานกับองค์กรระดับบิ๊กอย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้โครงการ Inno4farmers ทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น และโจทย์ที่ได้รับคือการสเกลอัพไปยังอุตสาหกรรมสุกร ดังนั้น เทคโนโลยีเดิมๆ ไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมโดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับฟาร์มเครือข่ายของซีพี ที่เป็นฟาร์มแม่พันธุ์สุกรขนาดใหญ่มีราว ๆ 7 พันตัวต่อฟาร์ม ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถที่จะสเกลอัพไปยังสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน”
สูตรลัดเร่งโตด้วย “สนามจริง”
เป้าหมายสำคัญของ “เช็คเมท และ ไฮเปิร์ม” คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมด้านเกษตรของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดในเบื้องต้นจะเป็นการลงไปให้ความรู้กับเกษตรกร หรือ Knowledge Management : KM ผ่านกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ อาทิ สหกรณ์โคนมภาคอีสานที่จะมีการประชุมทุกครึ่งปี นอกจากนี้ยังวางแผนถึงการเปิดรับการระดมทุนจากนักลงทุนที่เป็น VC ว่าจะเป็นในรูปแบบเคสบายเคส
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกษตร (Agriculture Technology) ในมุมมองของ วรรธนะ มองว่า ยังไปได้อีกไกล เนื่องจากเกษตรกรในประเทศไทยมีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อผลักดันสู่สมาร์ทฟาร์มนั้นน้อยมาก
นอกจากจะเป็นฟาร์มต้นแบบของภาครัฐ หรือ มหาวิทยาลัย ที่มีกำลังในการลงทุน ซึ่งล้วนแต่มีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาทั้งสิ้น และการบริหารจัดการเทคโนโลยีย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเกษตรกรไทยไม่สามารถจับต้องได้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้วรรธนะและทีมต้องการที่จะพัฒนาโซลูชันออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น