ดีอีเอส เผยศาลสั่งปิดเว็บ/โซเชียล ผิดกม.อีก 209 ยูอาร์แอล
ดีอีเอส เผยล่าสุดศาลมีคำสั่งปิดเว็บ/โซเชียลผิดกฎหมายอีก 209 ยูอาร์แอล ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างจริงจัง เริ่มเห็นสัญญาณบวก ล่าสุดได้รับความร่วมมือลบ/ปิดกั้นแล้ว 4,114 ยูอาร์แอล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสร้างความขัดแย้งในสังคม การปลุกปั่นยั่วยุ และการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ไข รวมถึงเร่งเพิ่มการสื่อสารสร้างความตระหนักให้กับประชาชน ตลอดเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส โดยเฉพาะการสร้างช่องทางเพจอาสา จับตา ออนไลน์ หรือm.me/DESMonitor มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งกฎเหล็กให้เร่งดำเนินการรวบรวมหลักฐาน เพื่อยื่นขอคำสั่งศาลให้เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์/โซเชียลดำเนินการปิดกั้น/ลบยูอาร์แอลที่ผิดกฎหมาย ภายใน 48 ชั่วโมง
โดยมีการรายงานผลการดำเนินการตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน2563 ซึ่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย และมีคำสั่งศาล 5 คำสั่ง ให้เจ้าของแพลตฟอร์มดำเนินการระงับการเข้าถึง/ปิดกั้นรายการผิดกฎหมาย จำนวนรวม 209 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 139 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 20 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 24 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 26 ยูอาร์แอล
รวมทั้ง ดำเนินการแจ้งความเอาผิดผู้กระทำความผิดอีก 12 ยูอาร์แอล ได้แก่ กลุ่มเฟซบุ๊กรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง จำนวน 11 ยูอาร์แอล และบัญชีทวิตเตอร์ Nicky @Pari_2532 จำนวน 1 ยูอาร์แอล
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการแจ้งความเอาผิดผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ไม่ปิดกั้นรายการเนื้อหาผิดกฎหมายตามคาสั่งศาลไปแล้ว 4 ชุด จำนวนรายการรวม 6,582 ยูอาร์แอล โดยจากการติดตามผลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.63 พบว่ามีการดำเนินการลบ/ปิดให้แล้ว จำนวน 4,114 ยูอาร์แอล ยังคงเหลืออยู่อีก 2,468 ยูอาร์แอล ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะรวบรวมคำสั่งศาลในช่วงวันที่ 2-18 ต.ค. 63 เพื่อสรุปจำนวนยูอาร์แอลที่ที่ยังไม่ปิดกั้นหลังมีหนังสือเตือน 15 วัน เพื่อดำเนินการแจ้งความเอาผิดไอเอสพีและแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นชุดที่ 5 ต่อไป
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ ได้มีการแจ้งความเอาผิดผู้ให้บริการที่ไม่ปิดกั้นตามคำสั่งศาลในช่วงวันที่ 26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการเข้าแจ้งความชุดที่ 3 และชุดที่ 4 ตามคำสั่งศาลช่วงเดือนส.ค.- 2 ก.ย. 63 และเดือน ก.ย.-2 ต.ค. 63 ตามลำดับ ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ เกิดความตื่นตัวให้ความร่วมมือดำเนินการกฎหมายเพิ่มขึ้น โดยมีความคืบหน้า ดังนี้ การแจ้งความเอาผิดชุดที่ 3 จำนวน 3,097 ยูอาร์แอล ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 1,748 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 1,003 ยูอาร์แอล คงเหลือ 745 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 607 ยูอาร์แอล ปิดครบแล้ว, ทวิตเตอร์ จำนวน 261 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 31 ยูอาร์แอล คงเหลือ 230 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ 481 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 127 ยูอาร์แอล คงเหลือ 354 ยูอาร์แอล
ขณะที่ การแจ้งความเอาผิดชุดที่ 4 จำนวน 1,185 รายการ ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 735 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 204 ยูอาร์แอล คงเหลือ 531 ยูอาร์แอล, ยูทูบ จำนวน 332 ยูอาร์แอล ปิดครบแล้ว, ทวิตเตอร์ 107 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 17 ยูอาร์แอล คงเหลือ 90 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ จำนวน 11 ยูอาร์แอล โดยยังไม่มีการปิดให้ตามคำสั่งศาล
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้รายงานการแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และแพลตฟอร์มต่างๆ ตามคำสั่งศาลที่มีการอนุมัติในช่วงเดือนตุลาคม เกี่ยวกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายจำนวนรวม 70 ยูอาร์แอล โดยสัดส่วนหลักๆ ยังอยู่บนเฟซบุ๊ก 29 ยูอาร์แอล และตามมาด้วย ยูทูบ 26 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 7 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ 8 ยูอาร์แอล
“กระทรวงฯ มีนโยบายในการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเว็บ/สื่อผิดกฎหมายบนโซเชียลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ” นายพุทธิพงษ์กล่าว