‘รพ.บางละมุง’ จุดพลุ ‘เทเลเมดิซีน’ ดึง 'ดิจิทัล' หนุน ‘จำกัดวอล์คอิน’ ใน 5 ปี
สิ่งสำคัญ คือ ทักษะและความชำนาญการใช้เทคโนโลยี
ที่ผ่านมาการใช้ระบบเทเลเมดิซีนในประเทศไทย มีข้อจำกัดเรื่องการยอมรับของทั้งแพทย์ (ผู้ให้บริบาล) และผู้ป่วย (ผู้รับบริบาล) เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบรับรองอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา แพทยสภาประกาศ แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (Telemedicine) และคลินิกออนไลน์ โดยประกาศนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ระบบเทเลเมดิซีน ของโรงพยาบาลบางละมุงที่ใช้ตรวจรักษาผู้ป่วยในเรือนจำ เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน และใช้งานง่าย ประกอบไปด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ กล้อง ซอฟต์แวร์ระบบห้องตรวจ โดยขณะนี้ใช้ วีรูม ห้องตรวจเสมือนจริงที่บริษัททรู ได้พัฒนาให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ใช้งาน
สิ่งสำคัญของการตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ทักษะและความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี และการสื่อสาร ซึ่งจะต้องสร้างความคุ้นเคยให้กับแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ พยาบาล ตลอดจนผู้ป่วย 2.กระบวนการจัดการ ต้องพร้อมทั้งระบบ ตั้งแต่ การเตรียมการก่อนพบแพทย์ ระบบคิวการเข้าพบแพทย์ วิธีตรวจผ่านออนไลน์ การสั่งยา การรับส่งยา การนัดครั้งต่อไป หรือบางรายต้องนัดตรวจเพิ่ม เช่น เจาะเลือด เอ็กซเรย์ จะมีช่องทางสำหรับเข้ารับการเจาะเลือด หรือเอ็กซเรย์ ที่โรงพยาบาลแล้วกลับได้ทันที ซี่งแพทย์จะติดตามผลในการตรวจทางเทเลเมดิซีนครั้งต่อไป หากบางรายที่ต้องพบแพทย์ก็จะมีการนัดเพื่อเข้าพบต่อไป
ข้อดีของเทเลเมดิซีน คือ ผู้ป่วยเห็นผลการตรวจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผลเลือดหรือผลเอ็กซเรย์ โดยแพทย์สามารถแชร์หน้าจอแสดงผลให้แก่ผู้ป่วยได้เพียงคลิกเดียว
ต่อยอดระบบล้ำสมัย สู่ รพ.สต.
โรงพยาบาลบางละมุง ยังเดินแผนต่อยอดไปที่ โครงการพัฒนาการตรวจรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถดูข้อมูลคนไข้ที่มารักษาในโรงพยาบาล ทั้งจาก รพ.สต. และระหว่าง รพ.สต.ภายในอำเภอ ขณะที่ ระบบ เทเลเมดิซีน จะเพิ่มศักยภาพในการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางมาที่โรงพยาบาล
โดยเฟสแรกจะเปิดใช้งานต้นปี 2564 จำนวน 2 แห่ง ที่ รพ.สต. หนองพังแค และ รพ.สต.โรงโป๊ะ คาดว่าภายใน 2 ปี จะมีผู้ป่วยตรวจรักษาทางไกลได้ราว 50% ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้
ส่วนเฟสที่ 2 จะขยายการใช้งานไปสู่ รพ.สต. อีก 2 แห่ง รวมเป็น 4 แห่ง ให้ครอบคลุมพื้นที่ในความดูแลจากนั้นจะขยายสู่เฟสต่อไป คือ ยกระดับโรงพยาบาลบางละมุง สู่เป้าเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยที่นัดหมายล่วงหน้า เน้นรักษาผู้ป่วยอาการหนัก โรคเฉพาะทาง และการตรวจที่ซับซ้อน ภายใน 5 ปี นับจากนี้ ซึ่งการนัดหมายล่วงหน้าช่วยลดผู้ป่วยวอล์คอินได้ ทั้งกระจายการรักษาไปยัง รพ.สต. เพิ่มช่องทางรักษาให้รองรับจำนวนผู้ป่วยได้มากขึ้น
"ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การมีเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล ตลอดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมสร้างทักษะต่างๆ ให้บุคลากรผู้ให้บริการ" นพ.ชาญชัย ทิ้งท้าย