วศ.ถ่ายทอด ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ Molecular Gastronomy
วศ. ร่วมกับ มรภ.ภูเก็ต เสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ : Molecular Gastronomy ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยสำนักเทคโนโลยีชุมชน จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ : Molecular Gastronomy" โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของ วศ. นางสาวขนิษฐา อินทร์ประสิทธิ์ นางสาวลลิตา ชูแก้ว และนางเจนจิรา สุขสวัสดิ์ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และก่อให้เกิดการสร้างรายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 35 คน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
การฝึกอบรม วศ. สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่ามีความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบหลากหลาย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภค วศ.อว.จึงได้พัฒนาด้าน Food Innovationโดยเฉพาะศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ Molecular Gastronomy ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตต่อไป
สำนักเทคโนโลยีชุมชนม วศ. ประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ มาใช้ในกระบวนการแปรรูปอาหาร ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ ช่วยปรับปรุงคุณภาพ ลดระยะเวลากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างอาหารรูปแบบใหม่ และคงคุณค่าทางอาหารไว้ใกล้เคียงของเดิม ได้แก่ วิธีการแช่แข็งแบบรวดเร็ว (Flash.Frozen) เพื่อยืดอายุและคงรักษาคุณภาพวัตถุดิบ การแปรรูปเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วยวิธีซูสวีด (Sous–Vide) เพื่อปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสและลดระยะเวลาในการปรุงอาหาร และการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ซอสโดยใช้เทคนิคเจลหุ้ม เรียกว่า สเฟียริฟิเคชัน (Spherification) เพื่อออกแบบอาหารให้มีความหลากหลาย และเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารของผู้บริโภค
ทั้งนี้ วศ. ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.ภูเก็ต ร่วมผลักดันและติดตามผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้สามารถพึ่งตนเอง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวถึงอาหารโมเลกุลว่า Molecular gastronomy เป็นสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์การอาหารที่มุ่งค้นคว้าวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์และทางเคมีของส่วนผสมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำอาหาร แผนงานของศาสตร์นี้ประกอบไปด้วยสามด้านเนื่องจากการทำอาหารได้รับการยอมรับว่ามีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ สังคม ศิลปะ และเทคนิค อาหารเชิงโมเลกุลเป็นรูปแบบการทำอาหารสมัยใหม่อย่างหนึ่ง และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคนิคมากมายจากวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาว่าอุณหภูมิในการปรุงอาหารมีผลต่อไข่ ความหนืด และความตึงผิวอย่างไร และยังศึกษาวิธีการต่าง ๆ ในการเติมอากาศเข้าไป, การขึ้นรูปน้ำผลไม้และของเหลวอื่นๆ ให้เป็นทรงกลม คือเทคนิคอย่างหนึ่งของศาสตร์แห่งอาหารการกินเชิงโมเลกุล
ศัพท์ Molecular and Physical Gastronomy ได้รับการบัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2531 โดยนิโคลัส เคอร์ตี นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และแอร์เว ติส นักเคมีจากสถาบันวิจัยการเกษตรแห่งชาติฝรั่งเศส ศัพท์นี้แต่เดิมบัญญัติขึ้นเพื่อใช้หมายถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของการทำอาหารเท่านั้น แต่ต่อมาหลายคนได้นำไปใช้เรียกวิธีการปรุงอาหารหรืออธิบายรูปแบบของอาหารโดยตรง