เปิดขั้นตอนใช้งาน 'หมอชนะ' 'ไทยชนะ' 'Away Covid-19' 3 อาวุธกันภัยไวรัส

เปิดขั้นตอนใช้งาน 'หมอชนะ' 'ไทยชนะ' 'Away Covid-19' 3 อาวุธกันภัยไวรัส

สรุปรวบยอดขั้นตอนการใช้งาน 3 อาวุธกันภัยไวรัสโควิด-19 ได้แก่ "หมอชนะ" "ไทยชนะ" "Away Covid-19" มีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร

หลังจากเกิดการระบาดของ “โควิด-19” ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว บุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อม ต่างทำงานกันอย่างหนักในการป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นขยายวงลุกลาม รวมถึงประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฎิบัติตามกฎต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

ในช่วงเกือบ 1 ปีนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดครั้งแรกในประเทศ ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังทำให้ประชาชนสามารถติดตามความเสี่ยงของตัวเองได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากบรรดาแอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนามาช่วยในเรื่องการเฝ้าระวังโควิด-19 โดยเฉพาะ

และชื่อแพลตฟอร์มที่เราได้ยินกันบ่อย (อีกครั้ง) ในช่วงนี้ ได้แก่ “หมอชนะ” “ไทยชนะ” และ “Away Covid-19” โดยแต่ละแพลตฟอร์มทำหน้าที่และมีประโยชน์ต่อการแกะรอยการระบาดไม่ต่างกันมากนัก “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมารู้จักแนวทางการทำงานให้มากขึ้น และรวบรวมวิธีใช้งานทั้ง 3 แพลตฟอร์มไว้ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • ไทยชนะ

“ไทยชนะ” เป็นแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com และแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย

160994978736

แพลตฟอร์มนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยจัดเก็บข้อมูลผ่านการเช็คอินและเช็คเอาท์ด้วยคิวอาร์โค้ด

วิธีใช้งาน

ภายในแพลตฟอร์มไทยชนะจะประกอบไปด้วยฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ และวิธีใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

ขั้นแรก: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ต้องลงทะเบียนที่ www.ไทยชนะ.com เพื่อให้มีชื่อร้านอยู่ในระบบออนไลน์ของแพลตฟอร์มนี้ จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ดของร้าน จากนั้นให้นำคิวอาร์โค้ดนั้น ๆ มาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าร้านของตัวเอง

ขั้นที่สอง: สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือร้านบริการต่าง ๆ ก็ให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ห้างฯ หรือร้านนั้น ๆ ติดไว้ที่หน้าร้าน ก่อนเข้าใช้บริการ เป็นการเช็คอินก่อนเข้าร้านและเช็คเอาท์ขณะที่กำลังจะออกจากร้านด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะใช้เพียงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น

ขั้นที่สาม: ระหว่างที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการในห้างร้าน แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีฟังก์ชันให้สามารถจ่ายเงินออนไลน์ได้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินในการจ่ายชำระค่าสินค้า ก็จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจติดมาจากการรับเงินสดได้ ส่วนวิธีการจ่ายเงินออนไลน์นั้นก็ใช้งานง่ายไม่ต่างจากแอพพลิเคชั่นชำระเงินทั่วไป โดยต้องเติมเงินเข้าไปในระบบก่อนแล้วตามด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ

160994982054

สำหรับประชาชนที่อาจจะไม่มีสมาร์ทโฟนที่มีระบบสแกนคิวอาร์โค้ด สามารถใช้การจดมือควบคู่กันไปด้วยโดยให้มีข้อมูล “ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เวลาเข้า-ออก จุดรับบริการ”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บางจังหวัดที่มีการระบาดหนักรอบใหม่กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเช็คอิน-เช็คเอาท์ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะเท่านั้น เพื่อง่ายต่อการสอบสวนโรคยิ่งขึ้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “ไทยชนะ” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1119

 

  • หมอชนะ (MorChana)

“หมอชนะ” เป็นแอพพลิเคชั่นจัดเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

160995002164

แอพนี้ถือกำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐนำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.และกระทรวงสาธารณสุขกับภาคเอกชน นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์

วิธีใช้งาน

รูปแบบการใช้งาน “หมอชนะ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติดโควิด-19

วิธีใช้งาน เริ่มจากให้ดาวน์โหลดแอพ “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน แล้วเข้าไปตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองในแอพ โดยจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

160995007918

- สีเขียว : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

- สีเหลือง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

- สีส้ม : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

- สีแดง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

160995005994

เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแล้ว แอพจะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถดูได้ว่าผู้ใช้คนอื่นอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอพแจ้งเตือนผ่าน notification หากเราเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของตัวโทรศัพท์มือถือ

เมื่อมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสีในพื้นที่ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง “อัพเดทแบบเรียลไทม์” ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา แอพก็จะแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างดีขึ้น

ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว แอพหมอชนะไม่ขอข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือเลขบัตรประชาชน การลงทะเบียนเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) และมีการจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

เงื่อนไขการจัดเก็บข้อมูลของหมอชนะคือ เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันทีอีกทั้งการโค้ดแอพยังมีลักษณะเป็น โอเพ่นซอร์ส (Open Source) เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย

 

  • Away Covid-19

“Away Covid-19” เป็นแอพพลิเคชั่นเตือนก่อนเข้าพื้นที่มีเคส หรือพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก พัฒนาโดย บริษัท แมพพิเดีย จำกัด ก่อตั้งขึ้นจากทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ GIS นำโดย "ชิงชัย หุมห้อง" ซึ่งนั่งตำแหน่ง Project Manager

160995057296

แอพพลิเคชั่น Away Covid-19 สามารถเข้าใช้ได้ฟรี โดยการแอดไลน์ หรือคลิกเพิ่มเพื่อน @AWAYCOVID19 ในแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือแอดไลน์ได้ที่ https://lin.ee/aiQ8lsq 

วิธีใช้งาน

เมื่อแอดไอดี @AWAYCOVID19 เพิ่มเพื่อนในไลน์แล้ว ให้กดไปที่ฟีเจอร์ด้านล่างที่ระบุว่า “เตือนก่อนเข้าใกล้พื้นที่มีเคส” ซึ่งจะมีแผนที่พร้อมกับหมุดระบุตำแหน่งผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ

160995031449

ผู้ใช้จะต้องเปิดพิกัด (โลเคชั่น) มือถือ เพื่อประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดอาศัยอยู่ใกล้กับตำแหน่งตัวเองหรือไม่ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกตำแหน่งปัจจุบัน และตรวจสอบเส้นทางที่จะไปจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ว่าจะต้องผ่านบริเวณใดบ้าง

ข้อมูลที่ปรากฏบนแผนที่นี้จะบ่งบอกว่าพื้นที่ตรงจุดไหนที่ผู้ป่วยโควิด ผู้สัมผัสที่อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน และแจ้งเตือนว่าบริเวณใดเป็นพื้นที่ที่ผู้ป่วยเคยเดินทางไป (ไม่ได้มีครบทุกคน) หรือพื้นที่ไหนเสี่ยงเฝ้าระวัง แสดงพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยเคยเดินทางไป

160995038773

160995039961

อย่างไรก็ตาม จากการลองใช้งานพบว่า ข้อมูลไทม์ไลน์ผู้ป่วยแต่ละรายยังไม่เชื่อมกับแหล่งข้อมูลภายนอก จึงเปิดดูรายละเอียดเพิ่มเติมของผู้ป่วยไม่ได้

นอกจากนี้ แอพดังกล่าวยังมีการรวบรวมสถิติผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่มีการอัพเดทรายวัน และสามารถค้นหาสถานรักษาพยาบาลที่รับตรวจโควิด-19 ได้ด้วย

ขณะเดียวกัน ข้อควรรู้ในการใช้ Away Covid-19 คือ ข้อมูลจุดที่ปรากฏบนแผนที่อิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ส่วนจุดบนแผนที่ไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงเสมอไปเพราะอาจดำเนินการฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามมาตรการป้องกันโควิดแล้ว และข้อมูลจุดจะไม่ถูกแสดงบนแผนที่อีกต่อไปหลังจากครบ 14 วัน นับตั้งแต่การประกาศของกระทรวงสาธารณสุข