วิเคราะห์เปิดตัว 'Samsung S21' ไม้เด็ด 'ซัมซุง' ยึดตลาดไฮเอนด์
วิเคราะห์กลยุทธ์การเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ "Galaxy S21" ของยักษ์ใหญ่ "ซัมซุง" ที่มาเร็วกว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางการแข่งขันสูงในตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์
หลังจาก “ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์” ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของเกาหลีใต้ เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดตระกูล “S ซีรีส์” ได้แก่ S21, S21+ และ S21 Ultra เมื่อวันที่ 14 ม.ค. บรรดานักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมมองว่า มือถือรุ่นไฮเอนด์ราคาแพงเหล่านี้ น่าจะเป็นตัวดึงดูดรายได้และกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับซัมซุงอีกครั้ง
ไบรอัน หม่า รองประธานฝ่ายการวิจัยดีไวซ์ของบริษัทอินเตอร์เนชันแนล ดาต้า คอร์ปอเรชัน (IDC) วิเคราะห์ว่า มือถือเรือธงรุ่นใหม่ของค่ายดังเกาหลีใต้จะเป็นผลิตภัณฑ์ “สุดปัง” ที่ส่งสัญญาณครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนถึงนวัตกรรมที่บริษัทมีอยู่ในมือ สำหรับใช้กับมือถือรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต
- โฉมหน้ามือถือตระกูล Galaxy S21 ของซัมซุง -
“ผมคิดว่ามีแรงกดดันบางอย่างที่เห็นได้ชัดท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่จำนวนยอดขายและราคาเฉลี่ย แต่ถึงอย่างนั้น แน่นอนว่า นี่ (ซัมซุง S21) จะยังเป็นมือถือเรือธงที่ยังไปได้อีกในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน” หม่าเผยกับซีเอ็นบีซี
- ทำไมเปิดตัวมือถือใหม่เร็วขึ้น
ปกติแล้ว ซัมซุงเปิดตัวมือถือเรือธงตระกูล Galaxy ในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ของทุกปี ซึ่งใกล้กับหรือชนกับอีเวนท์ “โมบาย เวิลด์ คองเกรส” (Mobile World Congress) งานมือถือใหญ่ระดับโลกประจำปี
หม่าบอกว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ซัมซุงขยับมาเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่เร็วขึ้นในเดือน ม.ค. ก็เพื่อชิงจังหวะช่วงที่คู่แข่งอย่าง “หัวเว่ย” ของจีน กำลังเผชิญวิบากกรรม รวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ด้วยการเปิดตัวมือถือตัวท็อปและฉกฉวยโอกาสนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในปีที่แล้ว มีช่วงหนึ่งที่หัวเว่ยโค่นซัมซุงเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 1 ของโลก แต่ก็ทำได้เพียงช่วงสั้น ๆ ก่อนที่ส่วนแบ่งตลาดจะหดหายลงเรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่าซัมซุงช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคืนมาได้บ้างในปีที่ผ่านมา แต่ค่ายมือถือสัญชาติจีนอีกรายอย่าง “เสี่ยวหมี่” ก็เพิ่มความพยายามรุกตลาดตะวันตกมากขึ้นเพื่อชิงส่วนแบ่งที่หัวเว่ยเคยครอบครอง ด้วยการโหมโปรโมชั่นและโฆษณา
หม่าระบุว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ซัมซุงจัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ประจำปีเร็วขึ้น
“ในขณะที่เสี่ยวหมี่เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ราคาถูกกว่า ด้วยสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น Mi 11 ที่มาพร้อมกล้องสุดล้ำและฟีเจอร์อื่น ๆ แต่งานนี้เป็นทีของซัมซุงที่จะได้ประกาศว่า ‘ดูสิ ฟีเจอร์พวกนี้เราก็มีเหมือนกัน!’”
- นวัตกรรมที่ยังไร้คู่แข่ง
นอกจากนี้ ความอิ่มตัวของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ทำให้หลายบริษัทรวมถึงซัมซุงใส่นวัตกรรมล้ำสมัยในมือถือรุ่นใหม่ ๆ ได้ไม่มากนัก แต่ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ก็กำลังไปได้สวยกับจุดขายหนึ่งที่คู่แข่งรายอื่น ๆ ยังตามไม่ทัน นั่นคือ “สมาร์ทโฟนพับได้”
“อย่าลืมว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่เด่นที่สุดที่ซัมซุงกำลังปลุกปั้นคือ มือถือพับได้ ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มี ตอนนี้ ซัมซุงผลิตสมาร์ทโฟนพับได้ไป 2 รุ่นแล้วและกำลังจะพัฒนารุ่นที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะประกาศเปิดตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้” หม่ากล่าว
สัปดาห์ที่แล้ว ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 4 ของปีงบการเงิน (ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563) บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 9 ล้านล้านวอน (ราว 2.46 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นกว่า 25% เทียบกับกำไร 7.16 ล้านล้านวอน (ประมาณ 1.96 แสนล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัย “FnGuide” ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรของซัมซุงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 9.34 ล้านล้านวอน
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เงินวอนที่แข็งค่าขึ้นและการเปิดตัว iPhone 12 ของคู่แข่งอย่าง Apple เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผลกำไรรายไตรมาสของซัมซุงต่ำกว่าที่คิดไว้
- ท้ารบ Apple ตลาดไฮเอนด์
“สมาร์ทโฟนรุ่นราคาปานกลางและไฮเอนด์ คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของยอดขายมือถือทั้งหมดของซัมซุง แต่บริษัทจีนอย่างเสี่ยวหมี่, วีโว่ และออปโป้ ต่างมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดมือถือราคาปานกลางในหลายภูมิภาค รวมถึงอินเดีย และอาเซียน” จูซี ฮง ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยตลาด Omdia เผย
ข้อมูลจาก IDC ระบุว่า ปัจจุบัน ซัมซุงยังเป็นค่ายมือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 22.7% แม้ยอดขายส่วนใหญ่มาจากมือถือรุ่นราคาถูกกว่า แต่ซัมซุงแข่งขันกับ Apple ในตลาดสหรัฐด้วยสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ตระกูล Galaxy S และ Galaxy Note
มือถือเรือธงเหล่านี้จะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับสมาร์ทโฟนตระกูล iPhone 12 ของ Apple และดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมระบบปฏิบัติการ Android มากกว่า iOS และคนที่ต้องการมือถือที่มีกล้องถ่ายรูปและโปรเซสเซอร์รุ่นล่าสุด
--------------