'ดีอีเอส -ทีมพัฒนาแอพหมอชนะ' แจงยิบ "ยังทำงานร่วมกัน"
รมว.ดีอีเอส ชี้ ทีมอาสาพัฒนาแอพพลิเคชัน “หมอชนะ” ไม่ได้ถอนตัว แต่ส่งมอบให้รัฐดูแลทั้งระบบ เพื่อรองรับประชาชนทั่วประเทศ ขณะที่ กรมควบคุมโรค ร่ายยาวเหตุเป็นคนอัพเดทสี ยันไม่ขัดแย้งทีมอาสา ข้อมูลสถานะสีจะเปลี่ยน ต่อเมื่อโรงพยาบาลได้ยืนยันการติดเชื้อ
“พุทธิพงษ์” แถลงร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มผู้พัฒนาแอพหมอชนะ เปิดเหตุผลการถ่ายโอนหมอชนะให้รัฐ เพราะมองอนาคตการใช้ประโยชน์จากแอปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณ และกำลังคนมาอัดฉีดในระยะยาว ซึ่งภาครัฐ คือคำตอบดีที่สุด ด้านกรมควบคุมโรค เผยแอพหมอชนะเคาะ 3 สีแจ้งสถานะกลุ่มเสี่ยง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (18 ม.ค. 64) ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อติดตามข้อสรุปในการดูแลระบบแอพพลิคชั่นหมอชนะ หลังจากกลุ่มผู้พัฒนาได้ถ่ายโอนการดูแลให้กับรัฐ โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) รวมทั้งนายอนุชิต อนุชิตานุกูล และนายสมโภชน์ อาหุนัย ตัวแทนกล่มผู้พัฒนาแอพ หมอชนะ
“สืบเนื่องจากประเด็นที่มีคำถามจากสังคม การใช้แอปหมอชนะ ขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชน ว่าการทำงานตั้งแต่ทีมงานพัฒนาหมอชนะ 9-10 เดือนที่แล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังหารือด้วยดีกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันนี้ได้เชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องมาอย่างครบถ้วน ซึ่งยังทำงานร่วมกันมาด้วยดีโดยตลอด” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ทั้งนี้แอพหมอชนะ มีการพัฒนากันมาเป็นลำดับ ที่ผ่านมาทำเพื่อรองรับการใช้งานหลายเรื่อง ซึ่งการที่รัฐบาลนำมาใช้งานรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จำเป็นต้องมีทีมงาน พื้นที่ในการเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ที่รองรับการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่งเจตนารมย์ที่ส่งมอบหมอชนะให้รัฐบาล เป็นของผู้พัฒนาตั้งแต่แรก เพื่อให้มีการบริหารจัดการกันเป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยกลุ่มผู้พัฒนาที่เป็นทีมงานอาสาก็ยังสนับสนุนการพัฒนากับรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะยาว และบุคลากรที่ทำงานกันแบบประจำแบบ 24 ชั่วโมงเข้ามาเสริม จากเดิมเป็นการทำงานในรูปแบบทีมพัฒนาอาสา จึงมีการขยับบทบาทออกไปเป็นที่ปรึกษา
รมว.ดิจิทัลฯ ย้ำด้วยว่า ความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ฟังก์ชั่นสีต่างๆ ในการแจ้งสถานะแจ้งเตือนประชาชน กรมควบคุมโรค จะเข้ามาเร่งให้มีการแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น ยิ่งใช้เยอะ ข้อมูลยิงแม่นยำ รวดเร็ว ดังนั้นอยากขอให้ประชาชนช่วยกันใช้แอพหมอชนะกันเยอะๆ เพื่อการแจ้งเตือนเข้ามาในระบบ และส่งแจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงจะยิ่งรวดเร็วขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
“ยืนยันว่าเราและนักพัฒนาได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้น ใครออกข่าวอย่างไรมา เราไม่ทราบ แต่ตอนนี้ ยืนยันว่า นักพัฒนาไม่ได้ถอนตัว เขาก็ยังอยู่กับเราไม่ได้ทิ้งกันไป ไม่มีการถอนตัว ซึ่งถอนตัวไม่ได้ เพราะเริ่มพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่แรก ในปัจจุบัน เมื่อมีการใช้งานมากขึ้นจากหลักแสน เป็น 5-6 ล้านคน จำเป็นต้องมีงบประมาณในการขยายการดำเนินงาน มีกรอบงบประมาณแล้ว ซึ่งผู้คิดกรอบงบประมาณ คือ ผู้พัฒนานั่นเอง โดยที่ผ่านมา ก็ได้มีการใช้งบประมาณกลาง เป็นค่าเช่าคลาวด์ แต่ผู้พัฒนาไม่คิดค่าแรงเลย และเมื่อต้องใช้งานกันอย่างจริงจัง ก็ต้องมีเงินเพื่อเป็นงานประจำ มีที่เก็บข้อมูลที่รองรับจำนวนผู้ใช้งานได้ และการทำงานต่อจากนี้ของนักพัฒนาต่อจากนี้ ก็ยังทำงานร่วมกันอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ยังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลต่อไป” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า รัฐและทีมผู้พัฒนาฯ ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อปีที่ผ่านมา และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และ ศบค. ต้องการใข้แอพมาช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยง กระทรวงฯ จึงได้รับนโยบายมาเมื่อยอดใช้งานทะลุ 5 ล้านคนช่วงหลังปีใหม่ ว่าต้องมีการขยายพื้นที่การใช้งานบนระบบคลาวด์ เพราะเรามีระบบคลาวด์กลางภาครัฐอยู่แล้ว ส่วนข้อมูลผู้ใช้งาน มีแต่กรมควบคุมโรคเรียกใช้ได้ เมื่อมีกรณีพบผู้ติดเชื้อ
นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค และทีมผู้พัฒนา ได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยในการแจ้งเตือนสถานะเสี่ยงของผู้ใช้งานนั้นมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ข้อมูลส่วนบุคคล และ 2. ฐานของข้อมูลจะต้องดูแลโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้คือ กรมควบคุมโรค ซึ่งการเปลี่ยนสี QR code เพื่อเปลี่ยนการแจ้งเตือนสถานะจากสีเขียวนั้น ต้องผ่านกระบวนการยืนยันหลังการสอบสวนโรคของผู้ป่วยยืนยันก่อน
โดยการอัพเดทสถานะจะมี 3 สี ได้แก่ QR code สีแดง ผู้ป่วยยืนยัน, QR code สีส้ม ผู้มีความเสี่ยงสูงในการใกล้ชิดผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังติดตามสังเกตอาการ และมารับการตรวจเชื้อ และ QR code สีเขียวคือ ประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจได้รับข้อความแจ้งเตือนเฝ้าระวังตนเอง
ดังนั้น ขอให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเรื่องสี QR code ว่า แอปจะไม่สามารถเปลี่ยนสีเองได้ เพราะแอพคุยกันเองไม่ได้ ต้องมีการรวบรวมข้อมูลทั้งจากคนของกรมฯ ที่ลงไปอยู่ในระดับเขตและจังหวัด ข้อมูลในไทม์ไลน์ของผู้ใช้แอพหมอชนะ และการแปลงข้อมูลหลังการสอบสวนโรค จากนั้นกรมฯ จะแจ้งส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้เปลี่ยนสีของสถานะ QR code ของกลุ่มเสี่ยง
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กล่าวว่า ตลอดการทำงาน 8-9 เดือนที่ผ่านมา เป็นแบบอย่างของความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อมีการใช้งานมากขึ้น ก็จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เป็นระบบ รองรับจำนวนคนใช้งานที่มากขึ้น และการทำงานก็จะเป็นในแบบรูปแบบเดิม มีการร่วมมือการพัฒนา หมอชนะ ตั้งแต่ต้น และส่วนเรื่องการดูแลข้อมูล สพร. ก็ยังเป็นผู้ดูแลข้อมูล และอยากขอให้ประชาชนช่วยกันดาวน์โหลดแอพหมอชนะมาใช้งาน
นายอนุชิต อนุชิตานุกูล หนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาแอพหมอชนะ กล่าวว่า ทีมอาสาฯ มองว่าถึงเวลาที่แอพนี้ ต้องมีการดูแลอย่างเป็นทางการ จากที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะอาสาสมัคร อีกทั้งคำแนะนำ การใช้งานต่างๆ การสื่อสารจำเป็นต้องมีเอกภาพชัดเจน ควรต้อง “สื่อสารจากรัฐบาล” เพื่อสร้างความชัดเจน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ทีมผู้พัฒนาแอพหมอชนะ กล่าวว่า กลุ่มคนทำงานอาสาสมัคร มุ่งพัฒนาแอพเพื่อประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เป็นเครื่องมือหนึ่ง ดังนั้นจำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาช่วยกันใช้งาน เพื่อให้แอปหมอชนะ กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง จำเป็นต้องให้รัฐเป็นผู้นำในการรณรงค์การใช้งาน และมีความเป็นเอกภาพ