ผ่ากลยุทธ์ ‘ไอบีเอ็ม’ ยืนหนึ่ง ไฮบริดคลาวด์ 'ล้านล้านดอลล์'
ยักษ์ใหญ่ไอทีระดับโลกอย่าง “ไอบีเอ็ม” เผยแผนแยกธุรกิจบริการ บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ลุย "ตั้งบริษัทใหม่" ปลายปี 2564 นี้ รุกหนักตลาด “คลาวด์” หวังขึ้นเบอร์ 1 ไฮบริดคลาวด์โลก
หนุนไฮบริดคลาวด์ พันล้านดอลล์
ไฮบริดคลาวด์ ถือเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที ที่เชื่อมต่อคลาวด์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พับลิคคลาวด์ ไฮบริดคลาวด์ หรือระบบที่อยู่ในบริษัท (on premise) เข้าด้วยกัน
มีประมาณการณ์ว่า ตลาดไฮบริดคลาวด์ทั่วโลกมีมูลค่ารวม 1 พันล้านดอลลาร์ ผลมาจากความสามารถของระบบในการประสาน บริหารจัดการ และย้ายแอพต่างๆ เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์หนึ่งเดียวที่มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการรันเวิร์คโหลดต่างๆ
อาร์วินด์ กล่าวว่า ไอบีเอ็มจะโฟกัสที่แพลตฟอร์มไฮบริดคลาวด์และความสามารถด้านเอไอสำหรับองค์กร ขณะที่ NewCo จะเน้นออกแบบ รัน และช่วยให้ระบบอินฟราขององค์กรทั่วโลกมีความทันสมัยขึ้น
“ทั้งสองบริษัทจะมีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น พร้อมด้วยความสามารถในการร่วมมือกับพันธมิตรและคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย”
อภิชาต เสริมว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของไอบีเอ็มถือเป็นหนึ่งในผู้นำบริการบริหารจัดการอินฟราแบบไฮบริดของโลกอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทำหน้าที่ออกแบบและดำเนินการไมเกรทคลาวด์ที่มีสเกลใหญ่ และซับซ้อนให้กับบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำบริการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริดโดย การ์ทเนอร์มาอย่างต่อเนื่องถึงเก้าปี
เปิดจุดแข็งไฮบริดคลาวด์
ส่วนการแยกบริษัท จะทำให้ NewCo มีความคล่องตัว โฟกัสที่ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กรมองหาแนวทางลดต้นทุน โดยมองถึงการปรับแอพให้ทันสมัย การออโตเมทกระบวนการต่างๆ และการนำเอไอมาใช้ในระบบปฏิบัติการของธุรกิจ
"วันนี้ธุรกิจหันมาเลือกใช้แนวทางแบบไฮบริดคลาวด์มากขึ้น เพราะสามารถเพิ่มคุณค่าให้องค์กรมากกว่าการใช้พับลิคคลาวด์แบบเดิมถึง 2.5 เท่า”
อภิชาต บอกด้วยว่า ไฮบริดคลาวด์ช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเอื้อให้องค์กรสามารถผนวกรวมศักยภาพของโอเพนซอร์สเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าและช่องทางรายได้ใหม่ๆ แก่องค์กร
“ในประเทศไทย การใช้ไฮบริดคลาวด์เกิดจากความต้องการในการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัล โดยองค์กรที่พลิกโฉมตัวเองใหม่ใน นิวนอร์มอล ต่างเร่งเดินหน้าแผนการด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถรับมือกับโลกอนาคตได้”
อย่างไรก็ตาม 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจของสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ในประเทศไทย เผยว่าได้จัดสรรค่าใช้จ่ายด้านไอทีไว้สำหรับระบบคลาวด์ มีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายเกี่ยวกับไฮบริดคลาวด์จาก 44% ในปัจจุบันเป็น 49% ภายในปี 2566