'ชไนเดอร์ฯ' จับมือ 'วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี' ดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

'ชไนเดอร์ฯ' จับมือ 'วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี' ดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

'ชไนเดอร์ อิเล็คทริค' จับมือ 'วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี'  เดินหน้าต่อยอดด้านการศึกษา หวังขานรับอุตสาหกรรมในอนาคต

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี (IRPC Technological College) หรือ IRPCT โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสำหรับการจัดการพลังงาน และระบบออโตเมชัน ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า พลังงาน และเมคคาทรอนิกส์ เพื่อช่วยเสริมความเข้มข้นด้านวิชาการให้วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซีสามารถพัฒนาทักษะด้านอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับนักศึกษา

161158733224

ด้วยความเชี่ยวชาญระดับโลกด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชัน ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นอกจากนี้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังมอบเทคโนโลยีแห่งอนาคต นวัตกรรมต่างๆ ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้คิดค้นให้กับอาจารย์และนักศึกษาได้เรียนรู้ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมอันหลากหลายที่เป็นประโยชน์ในแวดวงอุตสาหกรรมและพลังงานในอนาคต

นายสเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เผยว่า ความต้องการทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 4.0 กำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การเขียนโปรแกรม นับเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก รวมไปถึงทักษะต่างๆ เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนซึ่งจะได้รับความต้องการเพิ่มขึ้นในยุค 4.0 นี้เช่นกัน

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม มีความจำเป็นต้องมีบทบาทเชิงรุกในการยกระดับบุคลากรในอนาคต ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงมองเห็นว่าการสนับสนุนด้านการศึกษาจะช่วยพัฒนาทักษะของนักศึกษาในวันนี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในวันหน้าให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้

แม้ทุกวันนี้จะมีความกังวลว่าระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 4.0 จะเข้ามาแทนที่งานแบบเดิม แต่จากที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้กลับช่วยเสริมความสามารถให้กับมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงาน ซึ่งโรงงานอัจฉริยะจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยในการทำงานอัตโนมัติที่ซ้ำซากจำเจ ในขณะที่ช่วยให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นงานที่ต้องใช้เหตุผลและทักษะมากขึ้น  

“นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยังช่วยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อย่างวิกฤติโควิด 19 ที่ทุกประเทศได้เผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้สามารถรีโมทเข้าไปมอนิเตอร์ ควบคุมกระบวนการผลิต ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการผลิต หรือสั่งให้กระบวนการเป็นไปโดยอัตโนมัติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยเว้นช่องว่าง ระยะห่างในการพบปะกันระหว่างพนักงานได้อย่างดี และปลอดภัยได้ในทุกๆ กระบวนการในโรงงาน ถ้ามีการวางแผน และออกแบบการใช้งานเทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม”