‘ใช้จ่ายไอทีไทย’ พุ่ง 6.6แสนล. ซอฟต์แวร์องค์กรโต-‘สื่อสาร ดีไวซ์’ แรง
ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเติบโตสูงสุด จากการพัฒนาและขยายตัวของรูปแบบการทำงานจากระยะไกล
“การ์ทเนอร์” ออกคาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลก ที่ยังมีเม็ดเงินสะพัดต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมุ่งหาไอทีและบริการดิจิทัลตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจต่างเร่งลงทุนในระบบไอทีอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับแผนระยะยาวเมื่อโลกก้าวสู่ยุคหลังโควิด
ในประเทศไทย มูลค่าใช้จ่ายไอทีเติบโตขึ้นเช่นกัน คาดว่าปีนี้จะโตราว 5% คิดเป็นมูลค่า 6.68 แสนล้านบาท ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรเติบโตขึ้นสูงสุด 13.6% หรือคิดเป็น 45,937 ล้านบาท รองลงมา คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ เติบโต 10.9% หรือ 27,517 ล้านบาท ขณะที่ อุปกรณ์ดีไวซ์ เติบโต 9.5% หรือคิดเป็น 176,975 ล้านบาท
บริการการสื่อสารแม้จะมีมูลค่าใช้จ่ายสูดสุด 358,885 ล้านบาท แต่กลับเติบโต 2.8% เท่านั้น เช่นเดียวกับบริการด้านไอทีที่โตแบบติดลบ การ์ทเนอร์ คาดว่า ปี 2565 มูลค่าใช้จ่ายไอทีไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 703,576 ล้านบาท ซอฟต์แวร์ระดับองค์กร ยังเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงสุด
“ทุกเซกเมนต์กลับมาเติบโตหมด ยกเว้นเพียง บริการทางด้านไอที ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรคาดว่าจะเติบโตสูงสุด จากการพัฒนาและขยายตัวของรูปแบบการทำงานจากระยะไกล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการแท็บเล็ตและแล็บท็อป ทำให้ตลาดอุปกรณ์ดีไวซ์กลับตามเติบโตอีกครั้ง”
ทั่วโลกใช้จ่ายไอทีแตะ 3.9 ล้านล้านดอลล์
สำหรับแนวโน้มใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2564 จะมีมูลค่า 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จากเดิมที่ติดลบ 3.2% ในปี 2563 เป็นผลสืบมาจากผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ซีไอโอ (CIO) ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีและบริการต่างๆ และถือเป็น “ภารกิจสำคัญสุด” ในช่วงการระบาดระยะต้น
นายจอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเพื่อใช้ทำงานและการเรียนจากระยะไกล สร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างไม่คาดคิด รวมถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ช่วงล็อคดาวน์ และมาตรการเว้นระยะห่าง
“เมื่อเศรษฐกิจกลับคืนสู่สภาวะปกติ ธุรกิจจะมุ่งลงทุนไอทีตามแผน เพื่อสร้างการเติบโตไม่ใช่เป็นการลงทุนตามรายได้ในปัจจุบัน”
เขาเชื่อว่า ภาพรวมใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกเซ็กเมนต์จะเติบโตปีนี้ ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเติบโตสูงสุด 8.8% จากการพัฒนา ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกล หรือการเวิร์คฟรอมโฮม โดยกลุ่มอุปกรณ์ดีไวซ์จะมีการเติบโตรองลงมา หรือราว 8% โดยมีมูลค่าถึง 705.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7 แสนล้านดอลลาร์
"มีปัจจัยหลากหลายที่ผลักดันให้ตลาดดีไวซ์เติบโตสูงขึ้น ทั้งการที่ประเทศต่างๆ ยังใช้การศึกษาจากระยะไกลต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการแท็บเล็ตและแล็บท็อปนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่หลายองค์กรเปิดให้ทำงานระยะไกลของพนักงานเป็นเรื่องเป็นราว"
นายเลิฟล็อค กล่าวต่อว่า จนถึงปี 2567 ธุรกิจ จะถูกบังคับให้เร่งแผนเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ดิจิทัลอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเอาตัวให้รอดในโลกหลังโควิด-19 โดยการทำงานระยะไกลและช่องทางสื่อสารดิจิทัล จะได้รับการยอมรับและนำมาใช้อย่างถาวร คาดว่าใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกลจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 332.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจดึงเทรนด์ดิจิทัลมาปรับใช้
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปี 2564 ธุรกิจดิจิทัลนำเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ต่างๆ มาปรับใช้อย่างโดดเด่น เช่น การประมวลผลผ่านคลาวด์ การใช้แอพพลิเคชั่นทางธุรกิจ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเพิ่มประสบการณ์ลูกค้าระดับแถวหน้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ เช่น ระบบไฮเปอร์ออโตเมชั่น
สำหรับภาพรวมการฟื้นตัวของตลาดไอทีระดับโลกยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2565 แม้หลายประเทศอาจฟื้นตัวเร็วกว่า แต่ระยะยาวอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรวมผู้คน อาทิ ร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ การเดินทางท่องเที่ยว และความบันเทิงจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ จากเหตุผลที่ในแต่ละประเทศ ยังคงเข้มข้นในมาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัย
"โควิด-19 ได้เปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยี เปลี่ยนบทบาทไอทีจากการสนับสนุนธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจ"