‘ไอบีเอ็ม’ ยก ‘ออโตเมชั่น-เอไอ’ ชี้ ‘อนาคตธุรกิจ’ ปี 2564
องค์กรที่ใช้ อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น จะก้าวเหนือกว่าคู่แข่งในแง่รายได้
โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าความเสียหายจากระบบปฏิบัติการที่หยุดชะงักนั้นมากเพียงใด วันนี้ผู้บริหารต่างทราบถึงความจำเป็นของการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ เพื่อปรับปรุงระบบทั่วทั้งองค์กรให้มีความยืดหยุ่น ปรับสเกลการทำงานและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงโมเดลการดำเนินงานรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
“สวัสดิ์ อัศดารณ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโกลบอลบิสสิเนสเซอร์วิส (Managing Director, Global Business Services: GBS) ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงผลศึกษาล่าสุดจากสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ที่ร่วมกับ อ็อกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์ พบว่า ลักษณะงานที่ใช้ระบบออโตเมชั่น จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2567
การใช้ระบบในงานธุรการและงานทั่วไปในแผนกจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย 20% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า จะมีการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ในการทำธุรกรรมข้ามแผนกภายในองค์กรมากขึ้น ขณะที่ 5% มองว่า จะเริ่มนำระบบเข้ามาสนับสนุนงานซับซ้อนที่ต้องอาศัยข้อมูลเรียลไทม์ หรืออินพุทจากหลายแหล่งในการแก้ปัญหา
‘อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น'พลิกเกมปี 64
สวัสดิ์ อธิบายว่า ออโตเมชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่หลายองค์กร ตั้งแต่โรงงานไปจนถึงธนาคารนำมาใช้แล้วร่วม 10 ปี แต่วันนี้ เมื่อเราผนวกเทคโนโลยีต่างๆ ที่วันนี้เดินมาถึงจุดที่สามารถนำไปใช้งานได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเอไอ อนาไลติกส์ ไอโอที หรือแม้แต่ 5จี จึงนำสู่สิ่งที่เรียกว่า “อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น” ที่เริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเพิ่มประสิทธิภาพของเวิร์คโฟลว์ การทำอนาไลติกส์เชิงคาดการณ์ หรือการใช้งานร่วมกับแมชีนเลิร์นนิง ผลศึกษาคาดว่า 80% ขององค์กรที่ใช้อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่นจะก้าวเหนือกว่าคู่แข่งในแง่รายได้ และความสามารถในการทำกำไรภายในระยะเวลาสามปีข้างหน้า
การศึกษาจากฟอร์เรสเตอร์ ยังชี้ว่า อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น จะมีสัดส่วนเป็น 25% ของการนำ RPA (Robotic Process Automation) มาใช้ โดยปีนี้ องค์กร 30% จะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของระบบออโตเมชั่น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและทดสอบระบบก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริงและเปิดให้พนักงานเข้าใช้ระบบ
ลดต้นทุน ติดสปีดการดำเนินงาน
สวัสดิ์ เสริมว่า ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการลดต้นทุนและการดำเนินงานแบบเอนด์ทูเอนด์ที่มีประสิทธิภาพของส่วนงานต่างๆ ภายในองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบออโตเมชันในอุตสาหกรรมมักใช้เครือข่ายมิเตอร์อัจฉริยะและเซ็นเซอร์ในการรวบรวมข้อมูลการผลิตที่สำคัญ จากนั้นระบบเอไอจะเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นมุมมองเชิงลึกที่แสดงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยองค์กรสามารถนำมุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและลดการหยุดทำงานของระบบได้
“ดังตัวอย่างของโรงแยกก๊าซของ ปตท. ที่ช่วยให้บริษัทสามารถคาดการณ์ความเสียหายของชิ้นส่วนต่างๆ ล่วงหน้า 3 เดือน ช่วยลดความสูญเสียมูลค่าหลายร้อยล้านบาทจากเหตุหยุดชะงักต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น”
ขณะที่ พีทีที เทรดดิ้ง ได้นำเอไอและออโตเมชั่น รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีการแปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นข้อความ (Optical Character Recognition หรือ OCR) มาใช้กับการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า ช่วยลดระยะเวลาดำเนินการได้ถึงสี่เท่าภายในหกสัปดาห์ และคาดว่า จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 16.6 ล้านบาทภายในสามปี
สวัสดิ์ ยังเพิ่มเติมอีกว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง เราเริ่มเห็นการนำ อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบบรรทุกสินค้า การกำหนดเส้นทาง และการบริหารจัดการอะไหล่ต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผนวกความสามารถของแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อสร้างการแจ้งเตือนตามลักษณะเหตุการณ์ ช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรพื้นที่สำหรับสินค้าคงคลังได้ทันท่วงที และทำการแก้ไขระหว่างการขนส่งได้ตามการแจ้งเตือนเหล่านี้
เวิร์คโฟลว์อัจฉริยะกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
สวัสดิ์ อธิบายว่า การลดต้นทุน ลดความเสี่ยงการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ เป็นข้อดีหลัก ของอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่น
“ดังตัวอย่างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่วันนี้นำระบบออโตเมชั่น และเอไอ มาช่วยบริหารจัดการกระบวนการซ่อมบำรุง การบริหารคลังอุปกรณ์ การจัดซื้อชิ้นส่วน รวมถึงการบริหารจัดการซัพพลายเออร์ ทำให้สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของอุปกรณ์แต่ละประเภทที่มีอยู่ในคลัง บริหารและกำหนดลำดับความสำคัญของงานซ่อมแซมในเชิงรุกได้ ซึ่งลดต้นทุนในการรักษาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในคลังลงได้ถึง 30% ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ลงได้ 3-5% ช่วยให้ กฟผ.มีชิ้นส่วนอะไหล่สำรองพร้อมใช้ รวมถึงสามารถยืดอายุของอุปกรณ์สำคัญๆ ได้ถึง 5%”
สวัสดิ์ เสริมว่า การนำออโตเมชันมาช่วยตั้งแต่เรื่องกระบวนการทำงานของทีมแบ็คออฟฟิศ ไปจนถึงการคาดการณ์การตอบสนองลูกค้าในอนาคตและการปรับเปลี่ยนรูปแบบของภาระงาน รวมถึงการผนวกระบบเข้ากับเอไอที่สามารถวิเคราะห์แพทเทิร์นต่างๆ ได้แม้เป็นข้อมูลที่ไร้โครงสร้าง จะทำให้ต่อไประบบออโตเมชันสามารถทำการตัดสินใจหรือขอบริการจากอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆ ได้เองอัตโนมัติหากตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
เตรียมพร้อมสำหรับงานอนาคต
สวัสดิ์ กล่าวว่า “อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันสร้างโอกาสสำคัญให้กับองค์กร แต่ก็นำสู่ความจำเป็นในการปรับตัวเช่นกัน โดยร้อยละ 89 ของกลุ่มองค์กรที่นำออโตเมชันมาใช้ ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและกระบวนการภายใน ตลอดจนฝึกทักษะใหม่ให้แก่พนักงานเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันได้สูงสุด”
“ทักษะเทคโนโลยีที่จำเป็นวันนี้อาจล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นองค์กรที่พนักงานร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมและความร่วมมือ จะมีความพร้อมในการตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะในการนำอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชั่นมาใช้ องค์กรต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียว”
สวัสดิ์ ทิ้งท้ายว่า “ปี 2021 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความสามารถและความเปิดกว้างพร้อมทรานส์ฟอร์ม และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เพราะองค์กรที่จะรอดพ้นจากการทรานส์ฟอร์มในอนาคตนั้นอาจไม่ใช่องค์กรที่พร้อมที่สุด เร็วที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นองค์กรที่ปรับตัวได้มากที่สุด”