ซักผ้าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป! 'วอชเวย์' ส่ง IOT เปลี่ยนโฉมการซัก
“ธุรกิจร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ” อีกหนึ่งโมเดลยอดนิยมของผู้คน ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักที่มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชนเมืองใหญ่ คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการบริหารจัดการ
สตาร์ทอัพจากห้องเรียน สู่โลกความจริง
จึงไม่แปลกที่ภาพรวมของธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในปัจจุบันเมื่อมีผู้ใช้จำนวนมากมักประสบกับปัญหาที่ตามมาคือ การชำระเงินซึ่งส่วนใหญ่จะถูกจำกัดเพียงแค่เหรียญสิบเท่านั้น หากเตรียมเงินไม่พอดีจะส่งผลต่อความล่าช้าในการแลกเหรียญ อีกทั้งบางช่วงเวลาที่มีผู้ใช้จำนวนมากอาจส่งผลต่อการลัดคิวเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่สามารถติดตามสถานะการทำงานของเครื่องซักผ้าได้ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ
ขณะที่ในมุมของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถตรวจสอบความผิดปกติ หรือการเสียหายของเครื่องซักผ้าด้วยตนเองได้ และที่สำคัญมักพบกับปัญหาการโจรกรรม จากเพนพ้อยท์เหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปิ๊งไอเดียที่ต้องการจะเข้ามาเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นธุรกิจบนเส้นทางสตาร์ทอัพ
ซักง่าย ไม่ต้องรอ
กัลย์สุดา ฤกษ์ศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท วี วิล ลอค ยู จำกัด กล่าวว่า วอชเวย์ (Washway) ต้องการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านสะดวกซักขึ้นมาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผ่านการจำหน่ายอุปกรณ์และระบบบริการจัดการธุรกิจเครื่องซักผ้า เมื่อได้ไอเดียก็ประจวบเหมาะกับมีการจัดกิจกรรม SUT STARTUP CAMP ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดแทนการสอบกลางภาคในรายวิชาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น
ในการประกวดครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันมากกว่า 20 ทีม การตัดสินนั้นจะมาจากการเปิด/ปิดไฟ ของกรรมการที่เป็นนักธุรกิจที่ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพ โดยการแข่งขันในครั้งนั้นจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งวอชเวย์ได้รับการเปิดไฟเพียงดวงเดียวจากทั้งหมด 7 ดวง นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของการตัดสินใจลุกขึ้นมาผลักดันไอเดียนี้ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สามารถเติบโตและสร้างรายได้บนสนามจริง
วอชเวย์ เป็นแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักผู้บริโภคสามารถเช็คสถานะเครื่องซักผ้า และสามารถจ่ายเงินได้ 2 ระบบ โดยจ่ายออนไลน์ผ่านธนาคารใดก็ได้ผ่าน payment gateway ซึ่งเป็นการชำระค่าบริการผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์และหยอดเหรียญ
โดยมีอุปกรณ์ต่อประกอบควบคุมเครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบผ้าด้วยเทคโนโลยี IoT และระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการร้านสะดวกซัก ที่ทำให้เจ้าของร้านสะดวกซักสามารถติดตามสถานะเครื่อง ตรวจสอบรายได้แบบ เรียลไทม์ ควบคุมมอนิเตอร์เครื่องซักผ้าแบบเรียลไทม์ ผ่านการประมวลผลบนระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ได้จากที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปหน้าร้าน เงินเข้าบัญชีอย่างปลอดภัย รู้สถานะทำงานของเครื่องซักผ้าและเครื่องอบว่าทำงานปกติหรือชำรุด ลดปัญหาการสูญเสียรายได้
ระบบประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.ระบบบริหารจัดการเครื่องซักผ้า ซึ่งฝั่งผู้ประกอบการจะมีเว็บแอพพลิเคชั่น ที่สามารถมอนิเตอร์เครื่องซักผ้าได้เช่น หน้าจอแสดงรายได้ของเครื่องซักผ้าทั้งหมด หน้าจอแสดงสถานะเครื่องซักผ้า เป็นต้น 2.ในส่วนของผู้ใช้งานจะมีเว็บแอพพลิเคชั่นที่จัดทำให้เพื่อผู้ใช้งานเครื่องซักผ้าในระบบของวอชเวย์ ซึ่งในเว็บแอพพลิเคชั่นสามารถดูคิวเครื่องซักผ้าได้ 3.กล่องควบคุมวอชเวย์ ภายในกล่องจะใช้เทคโนโลยี IoT เป็นหลัก หากผู้ประกอบการต้องการทราบค่าน้ำค่าไฟก็ทำได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีประกันระบบและอุปกรณ์อีกด้วย
เร่งขยายสาขารับตลาดโต
กัลย์สุดา เล่าต่อไปว่า ด้วยวอชเวย์เป็นแนวธุรกิจแบบสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจ agility และมีความคล่องตัวสูงที่ปรับเปลี่ยนแพ็คเกจได้ตามความต้องการของลูกค้า เริ่มต้นที่ 1 คู่เครื่อง ในเซ็ตจะมีทั้งเครื่องซักผ้าและเครื่องอบ
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจวางแผนจะขยายสาขาโดยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ลุยตลาดรอบนอกกรุงเทพฯ และเน้นภาคอีสาน จากนั้นขยายไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขายเป็นหลัก ช่วยเหลือลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ อีกทั้งวิเคราะห์ทำเล หวังให้ลูกค้าลงทุนแล้วได้รายได้อย่างยั่งยืน
“บิซิเนสโมเดลที่วางไว้คือ ตั้งใจจะโตไปพร้อมกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์โดยเป็นพาร์ทเนอร์ตั้งแต่สำรวจและเลือกโลเคชั่น ที่ปรับให้เข้าบริบทของลูกค้า 1.หากลูกค้ามีงบประมาณที่จำกัด ก็สามารถปรับไซต์ได้ตามงบประมาณ 2.โลเคชั่นและความเหมาะสมของจำนวน Machine โดยจะพิจารณา 2 ปัจจัยนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ลูกค้าลงทุนแล้วได้ไม่คุ้มเสีย และยังเป็นการรักษาแบรนด์อีกด้วย”
เดินสายขึ้นเวทีชิงรางวัล
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 1.ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนร้านสะดวกซัก 2.ผู้ประกอบการร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่ต้องการเปลี่ยนระบบให้เป็นออนไลน์ 3.ผู้ประกอบการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในที่อยู่อาศัยแนวดิ่งที่อยากเปลี่ยนระบบให้เป็นออนไลน์ 4.ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งสร้างที่อยู่อาศัยแนวดิ่งใหม่ และยังไม่ทำการติดตั้งเครื่องซักผ้าในที่อยู่อาศัย
ภาพความสำเร็จทั้งหมดการันตีได้จากการคว้าทุนจาก Startup Thailand League 2017 จากเอ็นไอเอ มูลค่ารวม 1 แสนบาท อีกทั้งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจและดิจิทัล หรือ ดีป้า ในระยะก่อตั้งธุรกิจ (S2) มูลค่ารวม 1 ล้านบาท
ทั้งได้รับคัดเลือกภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ระหว่างกิจการขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัย เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยเป็นโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (SEDA) และอื่นๆอีกมากมาย