อว.ส่ง 'เครื่องตรวจวัดฝุ่นPM2.5' ถึงมือ สธ. หวังเฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพประชาชน

อว.ส่ง 'เครื่องตรวจวัดฝุ่นPM2.5' ถึงมือ สธ. หวังเฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพประชาชน

อว.ส่งมอบเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (DustBoy) ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 จำนวน 500 เครื่อง

161407489731
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือ PM2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในมิติการสร้างและพัฒนานวัตกรรม อว. มอบหมาย วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ กลุ่มเรื่อง PM2.5 เพื่อเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมุ่งหวังให้ประเทศมีการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคตให้มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม  และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งการนำนวัตกรรมจากงานวิจัย “เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy)” ไปใช้ประโยชน์จริงในการเฝ้าระวัง เตือนภัยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน 

161407491056
ทางด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึง ความห่วงใยประชาชน และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร “เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy)” ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการเฝ้าระวัง เพื่อสื่อสารแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ประกอบด้วยประชาชนทุกกลุ่มวัยอาศัยอยู่รวมกัน ให้มีการดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
"ได้มีการร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา วิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยได้สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขติดตั้งในสถานบริการสาธารณสุขไปแล้ว 284 เครื่อง และในปีนี้ยังสนับสนุนอีก 500 เครื่อง เพื่อติดตั้งในสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเปราะบาง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรังเป็นต้น ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน" 

161407494633

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า PM2.5 เป็นแผนงานสำคัญภายใต้โปรแกรม 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ที่ วช. สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมประสิทธิภาพประสิทธิภาพการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยมุ่งหวังให้ประเทศมีการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคตให้มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้สนับสนุนการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) : ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) โครงการ “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซนเซอร์ (DustBoy)” ที่มี รองศาสตราจารย์ ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ และ วช. ยังสนับสนุนขยายการติดตั้งเครื่อง DustBoy เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ PM2.5 แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องในภาพรวมของประเทศไทย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที

161407495840

"ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) รูปแบบ Low Cost Sensor จากงานวิจัย เพื่อให้ค่าฝุ่น PM2.5 ที่รายงานมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงค่าฝุ่น PM2.5 ของแต่ละเครื่องมือในแต่ละเทคนิค อีกทั้งพัฒนาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC) ผ่านเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเชื่อมโยงและแสดงผลคุณภาพอากาศจากการรวบรวมข้อมูลการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ ค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 และ PM10 จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ"