'เอไอเอส' ลุยตั้ง 'เครือข่าย 4G 5G ไฟเบอร์' รพ.สนามกทม.

'เอไอเอส' ลุยตั้ง 'เครือข่าย 4G 5G ไฟเบอร์' รพ.สนามกทม.

'เอไอเอส' ลุยตั้ง "เครือข่าย 4G 5G ไฟเบอร์" รพ.สนามกทม. รองรับการทำงานทีมแพทย์-ผู้ป่วยโควิด-19 ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอน หรือ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า "ระบบสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนภารกิจต้านภัยโควิด-19 ของทุกฝ่ายให้ลุล่วงได้ด้วยดี ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาภารกิจ AIS 5G สู้ภัยโควิด จึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

อาทิ สนับสนุนซิมการ์ดและ SMS ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อให้บริการ Telemedicine , นำหุ่นยนต์ไปให้บริการเพื่อลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึง การติดตั้งเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่โรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงให้กลุ่มผู้ป่วยได้มีโอกาสสื่อสารกับครอบครัวให้คลายความกังวล"

ล่าสุด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ทีมวิศวกรเอไอเอส จึงเร่งติดตั้งและขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน พร้อมความครอบคลุมของเครือข่าย AIS 4G, 5G และ ติดตั้ง AIS Fiber พร้อมสัญญาณ WIFI ใน โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอน หรือ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พร้อมรองรับการเริ่มเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าพักรักษาตัวในวันที่ 13 เมษายนนี้ และกำลังเตรียมติดตั้งเครือข่ายที่โรงพยาบาลเอราวัณ 2 เพื่อให้ทันกับสถานการณ์เช่นกัน

161830691558

ด้าน นายแพทย์สุภกิจ ฉัตรไชยาฤกษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ชุตินธโรอุทิศ ซึ่งดูแล โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอน หรือ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 กล่าวว่า "ที่นี่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียง โดยเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เพื่อเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะรองรับผู้ติดเชื้อโควิด ที่อยู่ในระยะสังเกตอาการ

161830693949

ทั้งที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยโควิดเขียว ทั้งนี้ในภาพรวมถือว่าพร้อมรับผู้ป่วยได้แล้ว ด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยในส่วนของระบบสื่อสารที่เอไอเอสร่วมสนับสนุนครั้งนี้ ถือว่าตรงกับความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกับการทำงานของทีมแพทย์ในการรับ/ส่งข้อมูล รวมไปถึงการให้ผู้ป่วยได้สื่อสารเพื่อลดความเครียดระหว่างการพักรักษา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นในเร็ววัน