สวทช.เปิดเวทีหนุนเยาวชน ประชันฝีมือ 'โปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ' สู่นานาชาติ
"สวทช." ร่วมกับ "องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น" พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัว "โครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ" ชิงแชมป์ประเทศไทย
ค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนไทย ส่งโปรแกรมประมวลผลบนสถานีอวกาศนานาชาติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร แถลงข่าวออนไลน์เปิดตัว “โครงการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge”
ซึ่งได้จัดแข่งขันขึ้นเป็นปีที่ 2 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีเข้าร่วมการแข่งขัน มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็ม เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยในอนาคต โดยทีมชนะเลิศจะได้เข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศในเดือนกันยายน 2564
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัด โครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา และเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อม สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ ของกระทรวง อว.
ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ซึ่ง สวทช. ได้รับเกียรติจากแจ็กซา ประเทศญี่ปุ่นให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยเปิดรับใบสมัครจนถึงวันที่ 16 พ.ค. 64 จากนั้นจะคัดเลือกทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนทีมเยาวชนจากประเทศไทย โดยดูผลคะแนนการรันโค้ดในระบบซิมูเลชันของแจ็กซา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศ โดยถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านศูนย์ควบคุมอวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ก.ย. 64 ต่อไป
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีมที่จะสมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิก จำนวน 3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ไม่เกินระดับปริญญาตรี โดยสมาชิกในทีมสามารถอยู่ต่างสถานศึกษา และระดับชั้นเรียนได้ จากนั้นให้ส่งใบสมัครมายังโครงการฯ ภายในวันที่ 16 พ.ค. 64 ซึ่งในการแข่งขันผู้เข้าร่วมจะต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเท็มเพลตที่ทางแจ็กซากำหนด เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีในระบบ Simulation
ซึ่งจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินมีอุกกาบาตพุ่งชนสถานีอวกาศนานาชาติจนได้รับความเสียหาย ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA ให้สั่งการให้หุ่นยนต์แอสโตรบีเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และยิงเลเซอร์เข้าเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศนานาชาติ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของหุ่นยนต์แอสโตรบี และเวลาที่ใช้ในการปฎิบัติภารกิจ ขณะนี้ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเซิฟเวอร์ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp สำหรับการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย. 64
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า “สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูง และเทคโนโลยีที่ใช้กับยานอวกาศ ซึ่งหุ่นยนต์แอสโตรบี คือหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ”
นายโอะโนะ อะสึชิ (MR. ONO ATSUSHI) ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (JAXA Bangkok Office) กล่าวทิ้งท้ายว่า “องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น มีโครงการความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีกับ สวทช. มาอย่างยาวนาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้โครงการแข่งขันได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2
และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทีมชนะเลิศตัวแทนประเทศไทย ที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีกกว่า 10 ประเทศ ได้เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีของจริง โดยมีนักบินอวกาศนาซาที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และมีการถ่ายทอดสดลงมายังพื้นโลกอีกด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภารกิจเสริมสร้างกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอวกาศไทย” โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. คุณปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (INSTED) และคุณเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานรัฐกิจ บริษัท ไทยคม จำกัด