ไทยปั้น ‘คลัสเตอร์อวกาศ’ หนุนโนว์ฮาวสู่ ‘ผู้ผลิต’

ไทยปั้น ‘คลัสเตอร์อวกาศ’ หนุนโนว์ฮาวสู่ ‘ผู้ผลิต’

สองผู้คว่ำหวอดแห่งวงการแอโรสเปซ แชร์โนว์ฮาวชี้ทางผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ พร้อมแนะปัจจัยสำคัญที่ภาคเอกชนควรมี หวังเป็นก้าวสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจอวกาศของไทยจาก “ผู้ซื้อ” สู่ “ผู้ผลิต” 

รายงานการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

162074427211

พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวในกิจกรรม Open House Space Economy : Lifting Off 2021 ก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ว่าถาบันฯต้องการสร้างระบบนิเวศและอุตสาหกรรมอวกาศให้กับประเทศไทย พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อให้มีศักยภาพในห่วงโซ่อุปทาน โปรดักท์ และเซอร์วิสต่างๆ ในเศรษฐกิจอวกาศ ทั้งด้านกฎหมาย ข้อกำหนดของภาครัฐ การขอใบอนุญาต หรือแม้กระทั่งมาตรฐานอุตสาหกรรม

กิจการอวกาศเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีแค่จรวด ดาวเทียม อีกต่อไป โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการทหารและเป็นความมั่นคงระดับประเทศ ดังนั้นเทคโนโลยีอวกาศจึงมีคุณภาพสูง และมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมธุรกิจอวกาศจึงมีราคาสูง

162074429532

“สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ โดยเป็นการปิดเพื่อไม่ให้คู่แข่งรายอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล 100% และผูกขาดกับบริษัทบางเจ้าทำให้เทคโนโลยีแพร่กระจายออกไปได้น้อย เรียกว่า Old Space Paradigm เป็นกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จึงได้มีการผลักดันสู่การเป็น New Space Paradigm เพื่อให้ทุกคนสามารถหาประโยชน์ได้”

ดันไทยสู่นิวสเปซ

162074415038

ปัจจุบัน 80% ของอวกาศยังเป็น Old space paradigm หมายความว่ารัฐบาลยังเป็นลูกค้าหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือรัฐพยายามให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่จะมีการควบคุมดูแล ซึ่งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป อาทิ Blue Origin ของ Amazon.com หรือแม้กระทั่งสเปซเอกซ์ของอีลอน มัสก์ และไทยก็กำลังดำเนินตามเทรนด์เหล่านี้

ส่วนขอบเขตเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ ส่วนใหญ่เป็นดีพเทค หรือ ต้นน้ำ ตลาดมีเพียง 10-20% โดยจะเน้นดาวเทียม จรวด สถานีรับสัญญาณ ส่วน 70% คือปลายน้ำ อาทิ จีพีเอส  โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเภทบริการ เช่น บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม

ทั้งนี้ พงศธร เสริมว่า ความต้องการของประเทศไทยคือ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งจะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยพื้นฐานผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมีเทคโนโลยีมาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใกล้เคียง ในประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก สอดคล้องกับเทรนด์ของนิวสเปซ หมายความว่าความต้องการด้านทหารมีน้อยลง ความต้องการด้านพลเรือนมีมากขึ้น 

ดังนั้นราคาจึงถูกลง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในดาวเทียมขนาดเล็กจะมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงเป็นข้อดีที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มต้นน้ำได้ ส่วนสตาร์ทอัพ หากไม่มีฐานการผลิตเป็นของตนเอง อาจจะมองในส่วนของปลายน้ำก็จะมีโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน

เร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน

ด้าน Ketan Pole ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.ซี.เอส. กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทสำหรับดาวเทียมในโครงการธีออส2 กล่าวว่า ด้วยความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย จึงมีความพร้อมที่จะให้บริการงานผลิตทั้งในรูปแบบงานจ้างผลิตเพียงครั้งเดียว การสั่งผลิตจำนวนน้อย และการสั่งผลิตจำนวนมาก ที่ผ่านมาบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินทั้งโบอิง และแอร์บัสอยู่แล้ว โดยเป็นบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรกที่ได้รับใบรับรอง NADCAP เมื่อปี 2552 และยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับความร่วมมือในระดับสากลในการสนับสนุนชิ้นส่วนเครื่องบิน

162074452314

งานด้านแอโรสเปซไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการผลิตดาวเทียม ที่จะช่วยในการขยายศักยภาพการทำงานในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งเป็นการต่อยอดงานด้านการบินพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตลอดจนการเรียนรู้งานด้านการออกแบบดาวเทียม เนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมแอโรสเปซอย่างเต็มตัว ผ่านคลัสเตอร์ผู้ผลิตดาวเทียมในไทยในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมเล็ก 

“ปัจจุบันตลาดมีความต้องการชิ้นส่วนอากาศยานอีกมาก จึงมีโอกาสสำหรับบริษัทที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในด้านการลงทุนแบบระยะยาว โดยในฝั่งบริษัทฯได้มีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม รวมทั้งระบบบริหารจัดการ เพราะมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและชิ้นส่วนดาวเทียมถือได้ว่ากำลังเนื้อหอม หากใครจะลงสนามนี้จะต้องทำให้การผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน และมีการวางแผนระยะยาว รวมทั้งมีความอดทนต่อการสภาวะที่จะเกิดขึ้นในระยะแรก ส่วนอนาคต 5 ปีข้างหน้า มองว่า บริษัทไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับมาตรฐานการรับรองด้านอากาศยานนั้นจะเติบโตได้ 100% และยังมีโอกาสอีกมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะในโครงการอีอีซี อย่าง ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)อู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโครงการเมกะโปรเจค “ฮับการบินภูมิภาค” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหม่

162074453993