‘รีชบิท’ รวมพล 'คนรีวิว’ เสิร์ฟแบรนด์ถึงมือผู้บริโภค
เมื่อ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ “นักรีวิวสินค้า” กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงอิทธิพลในทุกแพลตฟอร์ม ผ่านการทำหน้าที่สื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้า แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
เพราะธุรกิจจำนวนไม่น้อยใช้นักรีวิวสินค้าและบริการ แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง ข้อสงสัยนี้ได้จุดชนวนความคิดให้กับ “พรดนัย สมใจมั่น” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คราวด์อินเวนท์ จำกัด และทีมนำโดย วรศักดิ์ ลาภสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ที่มีประสบการณ์ด้านเอเจนซี่โฆษณา และวุฒิชัย เฉลิมวุฒานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ร่วมกันพัฒนา “รีชบิท (Reachbit)” แพลตฟอร์มค้นหานักรีวิวสินค้า ที่จะทำให้แบรนด์ได้ค้นพบอินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกใจ ด้วยราคาที่ดีที่สุด กับระบบที่ง่ายทำได้เร็วภายใน 24 ชั่วโมง
ปั้นแบรนด์ให้สตรอง
พรดนัย กล่าวว่า เดิมจุดยืนบริษัทเป็นเอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจสกินแคร์แบรนด์ไทย จึงมีโอกาสใช้งานแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ แต่ก็ประสบปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ที่ยังไม่ตอบโจทย์ ผนวกกับเห็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลในการรวมทีมเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวบรวมอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพเพื่อส่งสารให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ
รีชบิท คือ Influencer Marketing Automation Platform ที่เชื่อมต่อนักการตลาดเข้ากับอินฟลูเอนเซอร์และบล็อกเกอร์ในระดับนาโน/ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมียอดผู้ติดตามระดับหลักพัน-หลักหมื่นขึ้นไปบนทุกแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย รวมประมาณ 7,000 ราย ที่มีความถนัดแต่ละด้าน เช่น สุขภาพ ท่องเที่ยว เทคโนโลยี แก็จเจ็ต ฯลฯ และการคาดการณ์ผลลัพธ์แคมเปญล่วงหน้า เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจของนักการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
รีชบิทแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ คือ การนำข้อมูล ผสานกับเทคโนโลยีเพื่อการสร้างเอไอ/แมชชีนเลิร์นนิ่ง มาคัดกรองนักรีวิวสินค้าทำให้แบรนด์ได้ค้นพบผู้ที่ถูกใจ และระบบ Bidding Price (ราคาเสนอซื้อ) ที่สามารถกำหนดราคาจ้าง และ กำหนดจำนวนผู้ติดตามได้ในราคาที่ต้องการ เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์มีแรงจูงใจในการรีวิวมากขึ้น รวมถึง Journey ให้นักการตลาดสามารถเลือกคนที่ตรงกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้มากที่สุด และใช้งานแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง อินฟลูเอนเซอร์จึงสามารถตอบรับงานได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนบิซิเนสโมเดลเป็น B2B กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และเอเจนซี่โฆษณา ที่ต้องการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือแคมเปญต่าง ๆ ที่เน้น “ข้อมูลเชิงลึก”
พรดนัย กล่าวต่อไปว่า รีชบิทไม่ใช่แค่การหาอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแต่ละแคมเปญเท่านั้น แต่ยังมีทีมวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้แก่แบรนด์ และเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ตรงตามความต้องการและเข้ากับสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ แคมเปญให้ได้มากที่สุด โดยผู้ที่เข้ามาใช้งานรีชบิทไม่จำเป็นจะต้องติดต่ออินฟลูเอนเซอร์ทีละคน เพียงกรอกรายละเอียดความต้องการ ระบบจะทำการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติผ่านระบบการประมวลผลหลังบ้าน
ส่วนรายได้จะมาจากการคิด 25 % จากค่าจ้างที่อินฟลูเอนเซอร์ได้รับ โดยที่ผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ข้อดีของแพลตฟอร์มคือ เหมาะสำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจ จะได้อินฟลูเอนเซอร์ในราคาที่เหมาะสมและไม่ถูกบวกเพิ่ม เจ้าของธุรกิจสามารถแจ้งงบประมาณ รายละเอียดงาน ไว้บนเว็บไซต์คล้ายๆการประมูลงาน เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาเลือกรับงาน
เสียงจาก ‘ผู้ใช้’ สู่ ‘ผู้สร้าง’ อิทธิพล
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนจะทำออกมาเป็นตัวเลขบนแดชบอร์ดที่เข้าใจง่าย สามารถเช็คได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างยอดขายบนมาร์เก็ตเพลซได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้นักการตลาดนำข้อมูลไปใช้กับแคมเปญในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันแบรนด์ เอสเอ็มอีรายใหญ่หันมาใช้อินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น โดยมีการโพสต์งานไม่ต่ำกว่า 30 งานต่อวัน
พรดนัย มองว่า ในอนาคตตลาดนักรีวิวสินค้าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบรนด์ได้มีการใช้งบประมาณจ้างอินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโนและไมโครอินฟลูเอนเซอร์ในการรีวิวสินค้าต่อแคมเปญเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้น้อยลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ พร้อมกับคาดหวังผลสำเร็จจากเงินที่ใช้ไปเช่นกัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่ออินฟลูเอนเซอร์ต้องปรับตัวเพื่ออัพสกิลให้เก่งขึ้น ทำคอนเทนท์ได้ดีขึ้น เพื่อขายสินค้าให้ได้จริง
“งบการโฆษณาแคมเปญส่วนใหญ่จะอยู่บนอินสตราแกรม และเฟซบุ๊ค หลักๆจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางและอาหาร ส่วนการวัดผลความสำเร็จของงาน คือ การสร้างการมีส่วนร่วมทั้งยอดไลค์ คอมเมนท์ หรือ ฟีดแบ็คจากลูกค้าที่พูดถึงแบรนด์”
จากการดำเนินธุรกิจมากว่า 1 ปี มองเห็นว่าสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ไทยยังขาด จะเป็นเรื่องของวิธีการทำคอนเทนท์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า ต้องลงลึกไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความพิเศษขึ้น และอาจจะต้องมีทักษะเพิ่มขึ้นเช่น ถ่ายวีดีโอ ตัดต่อ ไลฟ์สด หรือสร้างสรรค์คลิปบน Tiktok ดังนั้น รีชบิทจะให้ความรู้สำหรับการพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์ให้ก้าวสู่การเป็นมืออาชีพ
“ความท้าทายของเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจให้สำเร็จ คือ 1.การออกแบบการเดินทางของการใช้งานบนระบบให้เสถียรมากที่สุด 2.ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและใช้แบรนด์มากขึ้น ดังนั้น รีชบิทจึงเปรียบเสมือนผู้ช่วยที่เลือก “คนที่ใช่” ให้แบรนด์ขายได้” พรดนัย กล่าว