เจาะกลยุทธ์ '3 บิ๊กไอที' เบื้องหลัง ‘ดิจิทัล’ ปฏิรูปธุรกิจ
ยุคแห่ง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สั่นสะเทือนไปทุกวงการ ไอทีนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ สามารถเติบโตได้สวนกระแส
แต่ทว่าหากไม่มีกลยุทธ์และรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแรงแล้ว คงไม่ง่ายนักที่จะคว้าโอกาสที่มารออยู่ตรงหน้า อีกทางหนึ่งยังต้องเผชิญความท้าทายที่มากขึ้น จากความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม ที่คาดหวังจะนำ “เครื่องมือดิจิทัล” มาช่วยเพิ่มทางรอดให้ธุรกิจ
+++ขับเคลื่อนด้วย ‘เทคโนโลยี’
เดชพล เอื้อทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เน็กซ์เทค เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอซีทีและโทรคมนาคมชั้นนำ เปิดมุมมองว่า การบริหารธุรกิจท่ามกลางวิกฤติ เพียงแค่รู้เขา รู้เรา นั้นไม่พอ ต้องรู้จักปรับตัวให้เร็ว มีความรอบรู้ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญรู้จักที่จะนำพลังของเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการทำงาน ทำให้การบริหารจัดการภายในและการให้บริการลูกค้ามีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ให้ความสำคัญอย่างมากกับการ “ติดตามผลงาน” ขณะเดียวกันต้องรู้จัก “ทำงานเป็นทีม” ให้เกียรติผู้ร่วมงาน ยิ่งมีวิกฤติยิ่งต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ขยันมากขึ้น ที่ขาดไม่ได้คือ “การวางเป้าหมายที่ชัดเจน”
ด้วยข้อจำกัดที่ไม่อาจเผชิญหน้ากันได้ยิ่งต้องเพิ่มการสื่อสาร ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจนและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน ที่ผ่านมาวิธีการที่เห็นผลอย่างมากคือการ “แชร์ข้อมูล” เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ส่วนการเพิ่มทางรอด แผนสำรองต้องมีมากกว่า 1 แผน และไม่อาจนำบรรทัดฐานเก่าๆ มาใช้ตัดสินได้
“ในฐานะผู้บริหารสิ่งที่ต้องมีเป็นอันดับแรกๆ คือมายเซ็ตที่ดี เอากำแพงออกไปให้หมด ผมเองมองพนักงานเป็นครอบครัว ลูกค้าคือญาติ พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมกันแก้ปัญหา และฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน”
ในการทำธุรกิจ เน็กซ์เทค เอเชีย วางตำแหน่งเป็นพันธมิตรที่จะเข้าไปช่วยลูกค้าแก้ไขทุกปัญหา และได้พบว่าปีนี้การลงทุนไอทีในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องระดับมากกว่า 20% โดยเฉพาะการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ และโดยทั่วไปฐานลูกค้าหลักของบริษัทกลุ่มองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมีความต้องการยกระดับไอทีอินฟราสตรักเจอร์เพื่อนำดิจิทัลไปพัฒนาระบบการทำงาน การบริหารจัดการ รองรับโมเดลการให้บริการใหม่ๆ บนดิจิทัล
ด้านเป้าหมายธุรกิจ แต่ละปีหวังเติบโตได้มากกว่า 10% โดยปัจจัยมาจากการวางตำแหน่งธุรกิจที่ชัดเจน ทุกอย่างสามารถวัดผลได้เป็นตัวเลข ที่สำคัญเข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาด การทำงานต้องมีแบบแผน ไม่หลุดจากมาตรฐาน กฎเกณฑ์ และกฎหมาย สอดคล้องไปกับโจทย์ของลูกค้า
นอกจากนี้ จุดต่างที่ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นยังมาจากการทำงานที่เปิดเผย คิดราคาลูกค้าโดยไม่เน้นทำกำไรมากเกินไป ทีมงานมีความเชี่ยวชาญ และการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลก
“วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจต่างต้องเผชิญกับวิกฤติ ความท้าทาย และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจะอยู่เฉยๆ คงเป็นไปไม่ได้ ต้องรู้จักปรับตัว ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สอดคล้อง และมองวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้” เดชพล กล่าว
+++ยืดหยุ่น-เข้าใจตนเอง
ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดวิสัยทัศน์ว่า ธุรกิจที่จะสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ต้องพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยการปรับตัวนั้นต้องทำอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งส่วนของการบริหารจัดการภายในและการทำงานร่วมกับพันธมิตร
สำหรับซิสโก้มีการปรับกลยุทธ์ทุกปี ด้วยอยู่ในอุตสาหกรรมไอทีมานานทำให้มีประสบการณ์ที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจได้ทันท่วงที นอกจากเรื่องของความเร็ว สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าคือ “Agility” ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้ตรงกับความต้องการ
ยอมรับว่าในระยะแรกของวิกฤติโควิดยอดขายได้รับผลกระทบ แต่บริษัทก็สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ “การนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบโจทย์” ครอบคลุมทั้งด้านเน็ตเวิร์ค คลาวด์ ซิเคียวริตี้ ระบบอัตโนมัติ และการทำงานร่วมกัน
ที่ผ่านมาแนวทางการบริหารธุรกิจช่วงวิกฤติให้ความสำคัญอย่างมากกับ “บุคลากร” โดยมีมุมมองว่าสิ่งจะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมายไม่ใช่แผนงานหรือกลยุทธ์แต่คือ “การเลือกคนที่เหมาะสม” กับตำแหน่งงาน เลือกคนที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้าแบบสุดทาง และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ปรับเปลี่ยนตัวเองได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร
“กุญแจสำคัญที่ผู้บริหารต้องมองคือ “เข้าใจตนเอง” ขณะเดียวกันสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ทำให้พนักงานมั่นใจว่าจะสามารถร่วมกันฝ่าวิกฤติ ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ในวิกฤติย่อมมีโอกาส ไม่ใช่ทุกอย่างจะแย่ไปเสียทั้งหมด บริษัทที่จะสามารถยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ต้องมีความเข้าใจว่าตนเองเป็นใคร เข้าใจถึงจุดเด่น และจุดแข็งที่มี โดยไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใคร”
ในมุมของลูกค้า โจทย์ที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญเมื่อตัดสินใจลงทุนไอที หลักๆ ยังคงเป็นเรื่องการขยายตลาดและลดต้นทุนการดำเนินงาน ภายใต้เป้าหมายคือ สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน เพิ่มความเร็วการทำงาน การตัดสินใจ และการทำงานร่วมกัน
ขณะที่ เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงหนีไม่พ้นคลาวด์ รวมไปถึงการพัฒนาสมาร์ทออฟฟิศ ดิจิทัลโซลูชั่นสำหรับธุรกิจ ซิเคียวริตี้ และที่น่าจับตามองคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5จี รวมไปถึงเทคโนโลยีเครือข่ายยุคใหม่ที่รองรับนิวนอร์มอล และการใช้บริการบนดิจิทัลที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ประเมินจาก 5 เดือนที่ผ่านมาเชื่อว่าปีนี้การลงทุนไอทีในประเทศไทยจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องทว่ายังต้องลุ้นว่าจะเติบโตได้มากน้อยเท่าใด
+++สร้างแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY แสดงทัศนะว่า วัฒนธรรมแบบ “Tech Company” มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการนำพาองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ
โดยองค์ประกอบสำคัญจะมาจากการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการทำงาน ออนไลน์ได้เรียลไทม์ ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ ในยุคนิวนอร์มอลที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ หากสามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นเมื่อต้องทำงานหรือติดต่อกับลูกค้า
สกายไอซีที ให้ความสำคัญเรื่อง “คน” เป็นอันดับแรก ใช้วิธีการ “OKR (Objectives and Key Results)” มาเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ทุกวันนี้ทำร่วมกันโดยไม่ยึดติดกับลำดับขั้น อาวุโส ให้อำนาจตัดสินใจกับพนักงาน ไม่จำกัดอยู่แค่ระดับบริหาร ทุกคนสามารถพูดคุย แบ่งปันข้อมูล และเสนอความคิดเห็นได้ตลอด 24 ชม. ทั้งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมให้สั้น ชัดเจน และกระชับมากที่สุดเพื่อไม่ให้เสียเวลา
“การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการสื่อสาร โดยทุกคนต่างยืนอยู่บนเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี”
ส่วนของธุรกิจมีการปรับกลยุทธ์โดยหันไปโฟกัสลูกค้าภาคเอกชนมากขึ้น ด้วยโซลูชั่นใหม่ “Smart Security Platform” ที่จะมีการนำเทคโนโลยีเอไอและการตรวจจับใบหน้ามาผสมผสานและทำให้การทำงานของระบบมีประสิทธิภาพ แนวทางธุรกิจจากนี้มุ่งพัฒนา “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการให้บริการ โดยวางเป็น “New S-curve” ที่จะมาพลิกโฉมธุรกิจและสร้างการเติบโตในอนาคต
การเกิดขึ้นของวิกฤติได้เพิ่มความท้าทายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากธุรกิจจะมีโจทย์ที่ต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล บริหารจัดการด้านต้นทุน สร้างความต่อเนื่องและแข็งแกร่งด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัยทั้งในมุมของการปฏิบัติงาน การใช้ชีวิต และการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า
“ธุรกิจเอสไอมีการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะด้านราคา หากอยู่เฉยๆ คงต้องถูกดิสรัปแน่นอน เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เริ่มตั้งแต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยปูทางการเติบโตแบบยั่งยืน พร้อมๆ ไปกับปรับบทบาทของตัวเองจากผู้วางระบบไปเป็นผู้พัฒนา ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แต่ต้องทำให้เหนือความคาดหมายที่ลูกค้าวางไว้”