บิ๊กดาต้าต้อง ‘เบลนเดต้า’ ใช้ง่ายแม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
ในยุคที่ธุรกิจกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องเร่งพัฒนาทุกการทำงาน ผ่านการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และการตัดสินใจมากขึ้น
พร้อมกับผลักดันให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากยังคงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและเครื่องมือในการบริหารจัดการ
กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลโซลูชัน จึงแตกไลน์สู่ “Blendata (เบลนเดต้า)" บริษัทน้องใหม่ให้บริการด้านแพลตฟอร์มบริหารจัดการบิ๊กดาต้าอัจฉริยะ หรือเปรียบเสมือนเป็น “Big Data Cloud Platform” แรกในประเทศไทย ที่ช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นแม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
“เบลนเดต้า” เกิดจากแนวคิดและความตั้งใจของวิศวกรของจีเอเบิล ที่ต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการบิ๊กดาต้าให้มาช่วยตอบโจทย์การใช้งานแบบครบวงจร โดยเปลี่ยนวิธีการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนให้สะดวกขึ้น สามารถใช้ร่วมกับแพลตฟอร์มหรือระบบอื่นที่มีอยู่แล้วได้ และสเกลตามธุรกิจได้ในอนาคตทำให้ธุรกิจและองค์กรก้าวเข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมตอบรับโอกาสใหม่ๆ และก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ
“โอกาส” ที่ซ่อนใน “ข้อมูล”
มีการคาดการณ์ว่าบิ๊กดาต้าในตลาดโลกจะเติบโตสูงถึง 2.30 แสนล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท และเติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 20% ในประเทศไทยภายในปี 2568 โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่เป็นตัวเร่งความสำคัญของการใช้บิ๊กดาต้าเพื่อดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญ 3 อุปสรรคหลักในขับเคลื่อนองค์กรด้วยบิ๊กดาต้าให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 1.การรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ความซับซ้อนของการจัดการโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล ที่อาจจะต้องใช้เวลา 6-8 เดือนในการรวบรวม
3. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อาทิ นักพัฒนา ,วิศวกรข้อมูล ซึ่งส่งผลกระทบต้นทุนโดยรวมของทั้งโครงการ จึงมักถูกจำกัดในองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง
แก้เพนพ้อยท์องค์กร
เบลนเดต้าได้รับการออกแบบเพื่อตอบเพนพ้อยท์ข้างต้นนี้ คือ 1.ลดเวลาและความซับซ้อนในการรวบรวมข้อมูลในองค์กร 2.เชื่อมต่อข้อมูลมหาศาลในองค์กรและนำมาใช้งานได้จากหลากหลายแหล่ง 3.ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว 4. แพลตฟอร์มแบบเปิด 5. ทำงานอิสระในทุกสภาพแวดล้อม 6. ลดการลงทุนทางด้านบุคลากร ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และการบำรุงรักษา ด้วยการรวบรวมทุกฟังก์ชันในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่มาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เริ่มให้บริการแล้วคือ “Blendata Enterprise” จับกลุ่มเป้าหมายองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และมีแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบิ๊กดาต้าเพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุม และตอบความต้องการไปยังธุรกิจขนาดกลางภายในปีนี้
Blendata Enterprise ช่วยให้จัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้เร็วขึ้น 270% หรือ 3 เท่าตัว และช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 160% หรือ 2 ใน 3 ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าจากบริษัทต่างๆ กว่า 15 ราย จาก 11 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมบริการ ภาครัฐ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ เป็นต้น
“ตัวอย่างการนำเบลนเดต้าไปใช้งาน อาทิ ธุรกิจโอเปอเรเตอร์ในเรื่องการบริการลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานผ่านการรวบรวมบิ๊กดาต้ามาไว้ในแพลตฟอร์มและจอแสดงผลแดชบอร์ด เพียงแค่กรอกเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลก็จะแสดงผลทันที จากระยะเวลา 2 อาทิตย์ เหลือเพียงหลักวินาที ผ่านการรวบรวมข้อมูลมากกว่า 100 ชนิด”
ทั้งนี้ เบลนเดต้ายังมีโรดแมพที่จะจัดทำในเรื่องของแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับดีมานด์ในองค์กรมากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจสามารถเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 50% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2563 เบลนเดต้าเติบโตถึง 7 เท่าของรายได้ในปีแรก และในปี 2564 ตั้งเป้าเติบโต 100% ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ทั้งยังมีแผนขยายตลาดไปยังประเทศกลุ่มเอเปกภายใน 5 ปี
เทรนด์แรงขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
ณัฐนภัส กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาองค์กรไทยได้นำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ แต่จำกัดแค่องค์กรขนาดใหญ่ เนื่องด้วยปัญหาหลากหลายและกฎหมายเรื่อง Data privacy ในปัจจุบัน (GDPR,PDPA) ทำให้ธุรกิจที่เริ่มต้นง่ายสุดคือ ธุรกิจที่มีข้อมูลลูกค้าเป็นของตนเอง ส่วนคลาวด์ที่เก็บข้อมูลมีให้เลือกทั้งพาร์ทเนอร์ที่เป็นคลาวด์ในประเทศไทย และต่างประเทศ อีกทั้งคลาวด์เดิมที่ใช้งานซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานเลือกใช้
“ตลาดครึ่งปีหลังท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ เทรนด์บิ๊กดาต้าตั้งแต่โควิดที่ผ่านมามีการเติบโตต่อเนื่อง และในปีนี้ ดาต้าของดิจิทัลยังไปได้อยู่ ส่วนครึ่งปีหลังสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายคือ การดิลิเวอรี่ให้กับลูกค้า เพราะระบบบางตัวจะต้องสนับสนุนลูกค้าซึ่งจำเป็นต้องไปที่สถานที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะลำบาก แต่ความต้องการด้านบิ๊กดาต้ายังคงมีอยู่และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในโลกดิสรัปชั่น”
ด้านความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญมาก แพลตฟอร์มจึงจะนำเสนอเพียงข้อมูลในองค์กรของลูกค้า จะไม่มีการนำไปซิงค์กับอีกที่หนึ่ง ขณะที่คู่แข่งโดยตรงในประเทศไทยที่เป็นแอพพลิเคชั่นยังเห็นไม่ชัด แต่แพลตฟอร์มต่างประเทศมีหลายรายที่เข้ามาทำตลาดในไทย ดังนั้น การจั้มพ์สตาร์ทในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯ เริ่มได้ก่อนที่หลายๆ แบรนด์จะพร้อม แต่หากมีนักพัฒนาหรือมีแพลตฟอร์มอยู่แล้วก็สามารถนำไปประกอบได้เช่นกัน ดังนั้น ในตลาดปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน