‘โรบินฮู้ด’ วีรบุรุษยุคฟู้ดเดลิเวอรี่ ส่งแคมเปญเอื้อ 'คนตัวเล็ก'
ทันทีที่เปิดตัว "โรบินฮู้ด (Robinhood)” แอพพลิเคชั่นฟู้ดดิลิเวอรี่สัญชาติไทยโดยธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านทางบริษัทลูก “เพอร์เพิล เวนเจอร์ส” สร้างความฮือฮาในตลาดไม่น้อยทั้งรูปแบบกิจการในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR มุ่งหวังเป็นทางเลือกที่ช่วยเหลือลูกค้า
สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “โรบินฮู้ด” เป็นการคิดแบบสตาร์ทอัพที่เริ่มจากปัญหานั่นคือ ค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP 30-35% ของการสั่งซื้อแต่ละครั้ง ถือเป็นเรื่องยากสำหรับร้านอาหารขนาดเล็กที่จะทำกำไร หรือทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการฟู้ดดิลิเวอรี่ถูกชาร์จค่าอาหารเพิ่ม
“โรบินฮู้ดตั้งใจช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ ที่กำลังเผชิญกับความลำบากท่ามกลางภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมยืนหยัดในการเป็นตัวกลางสนับสนุนร้านอาหารในหลักการของแพลตฟอร์มที่ไม่เก็บค่า GP เพื่อช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ สร้างรายได้ที่เป็นธรรม โดยร้านค้าจะได้รับเงินจากการขายภายใน 1 ชั่วโมง ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อพยุงธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งผู้ซื้อก็ได้รับปริมาณและราคาอาหารเทียบเท่าหน้าร้าน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ท่ามกลางภาวะการว่างงานที่ดีดตัวสูงขึ้น"
ฉีกแนวธนาคารลงศึกฟู้ดฯ
ความมุ่งมั่นนี้กลายเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างให้กับแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด ขณะเดียวกันได้เน้นทำการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าตามข้อมูลการใช้งาน ซึ่งทำให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงและนำมาสู่การออกแบบกิจกรรมหรือแคมเปญต่างๆ ที่ตอบความต้องการนั้นๆ เช่น “มิดไนท์ไรเดอร์” ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้านอนดึก, “ฝั่งธนจะไม่ทนหิว” เกิดขึ้นจากข้อมูลที่พบว่าพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีจำนวนร้านอาหารที่เปิดให้บริการผ่านโรบินฮู้ดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการสั่งอาหารที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ย่านธุรกิจ เป็นต้น
“ตั้งแต่เปิดทำการจนปัจจุบัน โรบินฮู้ดได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมามีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 20% ร้านอาหารสนใจเข้าร่วมแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นกว่า 35% และจากมาตรการควบคุมร้านอาหารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้มียอดออเดอร์ต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 50%”
ไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำ แต่ต้องการเป็นผู้ให้
ส่วนความท้าทายในการทำธุรกิจ สีหนาท มองว่า ธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก แต่ความท้าทายในการทำธุรกิจคือ การปรับตัวของผู้ประกอบการร้านอาหารที่จะรองรับบริการด้านออนไลน์ดิลิเวอรี่ จากปกติที่มียอดจากหน้าร้านประมาณ 90% และอีก 10% คือยอดจากการขายอาหารออนไลน์ ดังนั้น ร้านอาหารจึงต้องมองหาช่องทางการขายใหม่ๆ เพื่อพยุงธุรกิจให้สามารถอยู่รอดและผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้
ภาพรวมธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปี 2562 ถึงการระบาดระลอกใหม่นี้ ส่งผลให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตขึ้น สาเหตุหลัก คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยนิยมสั่งฟู้ดดิลิเวอรี่มากขึ้น เพราะยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่จบลง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ประกอบกับ work from home ทำให้ฟู้ดดิลิเวอรี่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในเวลานี้ และมาตรการภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมาโรบินฮู้ดเติบโตขึ้นประมาณ 40%
“เป้าหมายเราไม่ต้องการขึ้นเป็นผู้นำตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ แต่เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร และในอนาคตจะขยายบริการสู่ต่างจังหวัด โดยนำร่องในหัวเมืองใหญ่ บวกกับจะใช้พลังสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเข้าถึงร้านค้าและไรเดอร์”
ขยายโปรเจคให้เช่าสองล้ออีวี
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพเสริมให้กับไรเดอร์ที่ไม่มีจักรยานยนต์เป็นของตนเอง โดยจะเปิดให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) เป็นรายวัน อีกทั้งจะเปิดธุรกิจรับส่งของ (Express Service) บริการด้านสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Mart Service) รวมถึงโมเดล Zero GP OTAไม่เก็บ GP โรงแรม และอีกหลากหลายโปรเจคที่จะออกมาช่วยเหลือคนไทย
อนาคตอันใกล้นี้โรบินฮู้ดจะก้าวสู่ B2B แพลตฟอร์มที่ให้บริการแก่ร้านค้าแบบครบวงจร ได้แก่ 1.Financial Service 2.Supply Chain Fulfilment เป็นตัวกลางจัดหาวัตถุดิบให้ร้านอาหาร โดยร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ 3.Business Service ใช้สิ่งที่มีอยู่ เช่น พาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยสามารถเชื่อมโยงเป็นบริการที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ร้านค้าได้มากขึ้น 4.Market Intelligence การนำดาต้ามาช่วยในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งแก่ร้านค้า
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดตัว ต.ค.2563 แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดใช้บริการเทคโนโลยีคลาวด์ของ AWS บริษัทในเครือ Amazon.com มีความโดดเด่นด้านบริการและเครื่องมือที่ครอบคลุมการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น บริการคอนเทนเนอร์ ฐานข้อมูล การประมวลผล และการเรียนรู้ของระบบ ที่สามารถรองรับร้านอาหาร พนักงานส่งอาหาร และลูกค้าหลักล้านคนในกรุงเทพฯที่เข้าใช้บริการ