'มิลเลนเนียล-เบบี้บูมเมอร์' ยิ้มรับ 'เทคโนโลยีอนาคต' แต่ขยาด 'DeepFake' !
ผู้ใช้เน็ต Gen Z และ Gen X ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่กังวลเทคโนโลยีแห่งอนาค จะ 'ไบโอเมตริกซ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ หรือ ดีพเฟค' ก็เอาอยู่ ยิ่งกลุ่ม Millennials Baby Boomers ต่างยิ้มรับเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้ยังขยาดกลัว "ดีพเฟค" อยู่บ้าง
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่ม Gen Z และ Gen X ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ค่อยกังวลเกี่ยวกับ เทคโนโลยีแห่งอนาคต อย่าง ไบโอเมตริกซ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ อุปกรณ์หุ่นยนต์ และ ดีพเฟค
ขณะที่ผู้ใช้กลุ่ม Millennials และ Baby Boomers ก็เตรียมพร้อมรับมือ เทคโนโลยีแห่งอนาคต เหล่านี้ กลุ่ม Millennials อยู่ในช่วงอายุประมาณ 24–40 ปี หรือเกิดตั้งแต่ปี 2542 เป็นกลุ่มคนที่เติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ (Millennium) ส่วนกลุ่ม Baby Boomers คือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 54-72 ปี
จากการวิจัยของแคสเปอร์สกี้เรื่อง “Making Sense of Our Place in the Digital Reputation Economy” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 สำรวจผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 831 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับระดับความกลัวต่อกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบัน และพบว่าผู้ใช้จำนวนมากกว่าครึ่ง (62%) กลัวเทคโนโลยี ดีพเฟค (Deepfakes) โดยกลุ่ม Baby Boomers กลัวมากที่สุด (74%) และกลุ่ม Gen X กลัวน้อยที่สุด (58%)
Deepfakes คือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างภาพ เสียง หรือการบันทึกเสียงในลักษณะเหมือนผู้อื่น ทัศนคติของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เลื่อนลอย เนื่องจากวิดีโอดีพเฟคถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง การแก้แค้นส่วนตัว การพยายามแบล็กเมล์และฉ้อโกงครั้งใหญ่
ตัวอย่างเช่น ซีอีโอของบริษัทพลังงานในอังกฤษถูกหลอกให้จ่ายเงิน 243,000 ดอลลาร์โดยเสียงดีพเฟคของหัวหน้าบริษัทแม่ที่ขอให้โอนเงินฉุกเฉิน เสียงปลอมนั้นน่าเชื่อมากจนเขาไม่คิดว่าจะต้องตรวจสอบ เงินถูกโอนไปยังสำนักงานใหญ่ แต่ไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลที่สาม ซีอีโอเริ่มสงสัยเมื่อ ‘เจ้านายปลอม’ ขอให้โอนอีกครั้ง แต่ก็สายเกินไปที่จะเอาเงินที่โอนไปแล้วกลับคืนมา
Deepfake มาจาก 2 คำศัพท์ ได้แก่ Deep learning และ Fake โดย Deep learning เป็นกิจกรรมชนิดหนึ่งของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทำหน้าที่ เรียนรู้ข้อมูลบางอย่าง และ สามารถตัดสินใจกระทำการบางอย่างโดยอิงจากฐานข้อมูลที่เรียนรู้มา ส่วน Fake คือ ความปลอม นั่นเอง
ในกรณีนี้ คือ การเรียนรู้อัตลักษณ์ อาทิ ใบหน้าบุคคล รวมไปถึงรูปแบบการเคลื่อนไหว การพูดจา และน้ำเสียง เก็บบันทึกข้อมูลใบหน้าอย่างละเอียดทุกซอกมุม จากนั้นสามารถนำเสนอใบหน้าของบุคคลนั้นในรูปแบบต่าง ๆ อย่างอิสระราวกับบุคคลนั้นกำลังปรากฏตัวและพูดอยู่หน้ากล้องจริง ๆ
ผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงมีจำนวนน้อยแต่ก็ยังป้องกันตัวเองเกี่ยวกับไบโอเมตริกซ์ เช่น การใช้ลายนิ้วมือ เครื่องสแกนตา และการจดจำใบหน้า (32%) อุปกรณ์อัจฉริยะ (27%) และอุปกรณ์หุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด (15%)
ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ในภูมิภาคนี้มีเหตุผลที่จะกลัว เทคโนโลยีแห่งอนาคต ผลการศึกษาของ แคสเปอร์สกี้ ได้เปิดเผยประสบการณ์เชิงลบทางออนไลน์ของผู้ใช้ เหตุการณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่า 3 ใน 10 คนพบบ่อยที่สุดคือการเข้าครอบครองบัญชีของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าหนึ่งในสี่ (29%) ระบุว่ามีผู้อื่นเห็นข้อมูลลับบางอย่างของตน
ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 2 ใน 10 คนเล่าว่ามีการบังคับเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ (28%) ข้อมูลส่วนตัวถูกขโมยหรือถูกใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม (24%) หรือถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ (23%)
ผลที่ตามมาของเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ การได้รับสแปมและโฆษณา (43%) ความเครียด (29%) เกิดความอับอายหรือความผิด (17%) ความเสียหายต่อชื่อเสียง (15%) และการสูญเสียเงิน (14%)
นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การสำรวจของเราพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่โชคร้ายสามารถเกิดขึ้นได้ทางออนไลน์และส่งผลกระทบในชีวิตจริง เราจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเทคโนโลยีนั้นต้องได้รับพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ยังเปิดเผยว่ายังมีผู้ใช้เกือบ 2 ใน 10 คนเชื่อว่าซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องชีวิตออนไลน์ของตน กลุ่ม Gen Z เห็นว่าโซลูชันเหล่านี้ไม่จำเป็นมากที่สุด (17%) รองลงมาคือ Millennials (16%) ตามด้วย Gen X และ Baby Boomers (รวมกัน 15%)
นายคริสกล่าวเสริมว่า “นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากมนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำผิดพลาดเป็นครั้งคราว และโซลูชันดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตาข่ายป้องกันภัย หากยังไม่มีเครื่องมือจัดการความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ก็จำเป็นต้องมีการป้องกันขั้นพื้นฐานเตรียมไว้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจควรพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กรนั้นเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กองค์กรที่ปลอดภัยไปยังบ้านแต่ละหลังซึ่งมีช่องโหว่มากขึ้น”
แคสเปอร์สกี้ แนะตระหนักภัยไซเบอร์
โควิด-19 ได้ ปฏิวัติรูปแบบการทำงาน ทำให้เกิดการทำงานระยะไกลในชั่วข้ามคืน เกิดความท้าทายทางไซเบอร์ใหม่ๆ สำหรับทีมไอที แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับเพื่อช่วยให้ผู้ทำงานจากที่บ้านได้ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ดังนี้
•สอนทีมให้ตระหนักถึงโลกไซเบอร์
การฝึกอบรมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ทีมตระหนักถึงโลกไซเบอร์ วางแผนโปรแกรมการเรียนรู้ด้วยการผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ออนไลน์ ห้องเรียน (แบบเสมือนจริงหรือในชีวิตจริง) และคำแนะนำทางอีเมลเป็นประจำ สามารถทดสอบว่าผู้ใช้สามารถสังเกตการโจมตีแบบฟิชชิงได้หรือไม่ โดยการลองส่งอีเมลฟิชชิ่งปลอม
•สร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ
น่าเสียดายที่ในองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่มีวัฒนธรรมเรื่องความโปร่งใสระหว่างพนักงานกับแผนกไอทีในเรื่องไซเบอร์ เมื่อพนักงานทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวหรือกลัวว่าจะตกงาน จึงอาจไม่รายงานเหตุการณ์การละเมิดข้อมูลอย่างเป็นทางการซึ่งจะทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจและความโปร่งใสระหว่างพนักงานและทีมไอที การสื่อสารแบบเปิดเป็นสิ่งสำคัญ
•แนะนำให้ไม่ท่องเว็บด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน
การท่องเว็บตามสบายอาจนำไปสู่การบุกรุกความปลอดภัยของเน็ตเวิร์ก จึงควรย้ำเตือนพนักงานและสนับสนุนให้ทำเรื่องส่วนตัว อย่างการช้อปปิ้ง อ่านข่าวสาร หรือเล่นโซเชียลมีเดียบนอุปกรณ์ของตัวเอง
•แพตช์เครื่องของพนักงาน
หากอุปกรณ์ของพนักงานไม่ได้รับการแพตช์อย่างสมบูรณ์และอัปเดตเป็นปัจจุบัน โอกาสที่แฮ็กเกอร์จะค้นพบช่องโหว่ในระบบของคุณก็เพิ่มขึ้น แนะนำเข้าถึงเครื่องของพนักงานจากระยะไกลเพื่อแก้ไข หรือช่วยแนะนำพนักงานให้ดำเนินการด้วยตนเองผ่านทางโทรศัพท์ ยิ่งไปกว่านั้น ให้ติดตั้งโซลูชันที่แพตช์ให้อัตโนมัติ
•ขอให้ผู้ใช้เปลี่ยนรหัสผ่านเริ่มต้นบนเราเตอร์ที่บ้าน
เราเตอร์ในบ้านส่วนใหญ่ใช้รหัสผ่านเริ่มต้น ซึ่งแฮกเกอร์สามารถค้นหาและเข้าไปที่เน็ตเวิร์กของบ้านได้ โดยมากแล้วไม่ค่อยมีคนอยากเปลี่ยนเพราะเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เป็นขั้นตอนที่ปรับปรุงการป้องกันทางไซเบอร์ของพนักงานได้มากทีเดียว
รายงานของแคสเปอร์สกี้เรื่อง “Making Sense of Our Place in the Digital Reputation Economy” ศึกษาทัศนคติของบุคคลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีต่อการสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ที่ปลอดภัยและมีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังพิจารณาแง่มุมชื่อเสียงทางดิจิทัลของธุรกิจ
การศึกษานี้ดำเนินการโดยหน่วยงานวิจัย YouGov ในออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 1,240 คน มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพและใช้งานโซเชียลมีเดีย (ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันบนโซเชียลมีเดีย)