สอวช. ชู 'อววน.' เสริมพลังกระจายรายได้สู่คนฐานราก

สอวช. ชู 'อววน.' เสริมพลังกระจายรายได้สู่คนฐานราก

สอวช.เร่งกระจายรายได้สู่คนฐานราก แนะองค์กรในระบบมองภาพความสำเร็จของการปฏิรูปในทิศทางเดียวกัน พร้อมส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งในและนอกกระทรวง ชู อววน. เป็นฐานหลัก!

162644520553

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้การอบรมหลักสูตรการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำหรับบุคลากรของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดนักคิดนโยบายรุ่นใหม่ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ของประเทศ โดยการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมและฟังการเสวนาผ่านระบบออนไลน์รวมกว่า 90 คน

ในการแลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของระบบ อววน. ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า อววน. เป็นเรื่องของขีดความสามารถของประเทศที่เป็นฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งขีดความสามารถนี้ต้องนำไปพิจารณารวมกับเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาการ วิชาการ หรือเรื่องคน หากถามว่าที่ผ่านมาระบบ อววน. ประสบความสำเร็จในระดับใด ต้องพิจารณาว่าดูย้อนหลังไปกี่ปี ถ้านับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) มาถึงปัจจุบันรวม 60 ปี ถือว่ามีการพัฒนาไปมาก สมัยก่อนไม่มีแม้กระทั่งทุนสนับสนุนการวิจัย ขาดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และองค์กรที่ให้การส่งเสริม แต่ปัจจุบันมีทุนวิจัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีสถาบันวิจัยที่ทันสมัยและมีการส่งเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค ไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยเก่งขึ้นจนสามารถเทียบเท่าระดับนานาชาติได้

“อีกมุมหนึ่งในแง่ของความก้าวหน้าของระบบ อววน. จะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัด (Benchmark) ทั้งเกณฑ์ของเราเองและเกณฑ์ในการเทียบเคียงกับต่างชาติ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะเทียบกับประเทศอะไร ต้องการเปรียบเทียบในมุมไหน ถ้าเป็นมุมเศรษฐกิจ หากมองจากกลุ่มประเทศที่ติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ยังสามารถเทียบเคียงได้ ส่วนการคำนวณค่าเฉลี่ยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีต่อหัว ก่อนหน้านี้ประเทศไทย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อผ่านมา 50 ปี สัดส่วนตัวเลขมีการปรับขึ้นต่างกัน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประเทศที่มีสัดส่วนจีดีพีต่อหัวสูงขึ้นคือประเทศที่มีดัชนีนวัตกรรมสูง เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา สวีเดน ดังนั้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ” กิติพงค์ กล่าว

การติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จากค่าเฉลี่ยจีดีพีต่อหัวของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี หากจะหลุดพ้นได้ต้องเพิ่มค่าเฉลี่ยขึ้นไปอยู่ที่ 14,000-15,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ดร.กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยสามารถไปถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ได้ แต่จุดสำคัญคือค่าเฉลี่ยนั้นไม่ได้กระจายไปสู่คนทั้งประเทศ มีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง คิดเป็นประมาณ 13% ของประชากรทั้งหมด เมื่อลงไปคำนวณจากประชากรที่ทำอาชีพเกษตรกร SMEs หรือกลุ่มฐานราก จะพบว่ามีค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่เพียง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี เท่านั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการทำให้ค่าเฉลี่ยนี้กระจายไปให้ได้อย่างน้อย 50% ของประชากรทั้งหมด ไม่ไปกองอยู่เพียงแต่ที่ยอดพีระมิด การปฏิรูปในช่วงหลัง

162644522387

โจทย์สำคัญจึงน่าจะเป็นการนำเอาขีดความสามารถด้าน อววน. เข้าไปกระตุ้นและเสริมพลังให้กับคนที่อยู่ในฐานของพีระมิด ถ้าถามว่าในปัจจุบันระบบ อววน. สำเร็จในระดับใด คิดว่าประเทศไทยก้าวมาไกลมากแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่ต้องเดินต่อ ถึงแม้เส้นทางไปสู่เป้าหมายจะสั้นลง แต่ยังต้องเดินให้เร็วขึ้น เพราะเส้นทางข้างหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ต้องอาศัยการวางระบบที่ดีเข้ามาช่วย

ในส่วนภาพรวมของการปฏิรูประบบ อววน. ดร.กิติพงค์ มองว่า องค์กรที่อยู่ในประชาคม อยู่ในระบบทั้งหมด ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ประเทศประสบความสำเร็จไปในทิศทางเดียวกัน ถ้ามีความคิดเดียวกันในการมุ่งสู่เป้าหมาย พยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ออกไปให้มากที่สุด ก็จะมองเห็นหนทางขับเคลื่อนสิ่งสำคัญร่วมกันได้ โจทย์ของการปฏิรูปที่สำคัญเปรียบเทียบได้กับการปลูกมังคุดในสวนภาคใต้ ผลผลิตออกมามีลูกเล็ก ขายได้ราคาต่ำ ส่วนแรกที่ต้องให้ความสำคัญเริ่มจากการดูแลสวนให้ดี ต้องมีดินดี น้ำดี เปรียบได้กับการสร้างรากฐานที่ดีให้กับนักวิจัย นักวิชาการ องค์กร หรือบุคลากรในระบบ แต่ในขณะเดียวกันต้องคิดต่อว่าเมื่อผลผลิตที่ดีออกจากสวนไปแล้วจะทำอย่างไรให้ขายได้

จึงต้องมีการเชื่อมต่อกับตลาด สังคม ชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก ต้องเข้าไปสร้างระบบเชื่อมต่อตรงนั้น ไม่ใช่ให้ความสำคัญอยู่แค่การดูแลสวนของเรา การทำงานในส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการเชื่อมต่อกับหน่วยงานข้างนอก ต้องเริ่มคิดว่าเรายังขาดอะไร และจะมีเครื่องมืออะไรเข้ามาเป็นตัวช่วย

สำหรับกลไกที่จะช่วยผลักดัน ขับเคลื่อนในการปฏิรูปให้เกิดผลสำเร็จ ดร.กิติพงค์ มองว่า สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ถือเป็นร่มขนาดใหญ่ สามารถที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปได้อย่างมาก เพราะมีการทำงานเชื่อมโยงกับรัฐบาล ดูแลหน่วยงานทั้งหมดรวมถึง สอวช. และครอบคลุมถึงหน่วยงานในระบบวิจัยที่อยู่นอกกระทรวง อว. ก็สามารถจะทำงานร่วมกันได้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญควรมีนโยบายแบบบนสู่ล่าง (Top-down Policy) ซึ่งหน่วยนโยบายหรือหน่วยที่จะนำนโยบายไปใช้สามารถช่วยกันคิด ช่วยกันทำได้ การที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูป จะไปฝากไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่ได้ ต้องหากลไกการทำงานร่วมกันมากขึ้น ในมุม สอวช. เอง ยินดีที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการแก้ไข คลี่คลายข้อจำกัดต่างๆ โดยใช้กลไกภายใต้สภานโยบายฯ เข้ามารองรับ

162644523891

นอกจากนี้ ความเห็นโดยรวมของผู้ร่วมเสวนา ซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มองว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบ อววน.

ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังไม่เข้มแข็งและยังไม่เข้าถึงประชาชนอย่างเพียงพอ จึงต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การปฏิรูปมีขึ้นเพื่อทำให้ระบบเดิมที่ยังอ่อนแอมีความเข้มแข็งมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาสมรรถนะ ความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่ง อววน. ถูกมองว่าเป็นแกนหลักสำคัญ เราต้องทำให้ฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้มแข็ง ต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง ที่พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ทำให้หน่วยงานที่มีความหลากหลายในการทำงาน มองเห็นเป้าหมายความสำเร็จเดียวกันและทำงานร่วมกันได้ อีกส่วนสำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจและความตระหนักให้คนในประเทศเห็นว่า อววน. มีความสำคัญมากในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เราจึงต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมอบรมหลักสูตรการพัฒนานโยบายฯ จะได้เอาความรู้ที่ได้ไปเดินหน้าต่อ ในการออกแบบการทำงานร่วมกัน รวมถึงออกแบบเชิงระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบ อววน. ของประเทศต่อไป