‘หัวเว่ย’ ทุ่ม 100 ล้านดอลล์เสริมแกร่งอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพ
หัวเว่ยประกาศแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ เม็ดเงินลงทุนจะถูกนำไปใช้กับโครงการ Spark ที่มุ่งสร้างอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีความยั่งยืน โดยเป็นงบการลงทุนสำหรับระยะเวลาสามปี
รายงานข่าวจาก หัวเว่ย เผยว่า ช่วยสนับสนุนสิงคโปร์ในการสร้างศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพแห่งแรกของเอเชีย-แปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2563 และได้ขยายโครงการไปยังฮ่องกง ไทย มาเลเซีย
โดยจากนี้จะเน้นความสำคัญไปที่การพัฒนาศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพเพิ่มเติมอีกสี่แห่งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเวียดนาม มีเป้าหมายในการรวบรวมสตาร์ทอัพกว่า 1,000 ราย โดยสตาร์ทอัพ 100 รายจากในจำนวนนี้จะได้รับการต่อยอดสู่โครงการ Spark Accelerator
สำหรับประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานนวัตกรรแห่งชาติ (NIA) และพันธมิตรที่มีชื่อเสียงอีกหลายราย จัดการแข่งขัน “Spark Ignite 2021 – Thailand Startup Competition” เมื่อเดือนมิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันชิงรางวัล ครั้งนี้มีสตาร์ทอัพศักยภาพสูงกว่า 10 รายจากทั่วประเทศเข้าร่วม
นอกจากนี้ เปิดตัวโครงการเกี่ยวกับสตาร์ทอัพอีกสามโครงการประกอบด้วยโครงการ Spark Developer Program ที่มุ่งฟูมฟักอีโคซิสเต็มนักพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิกผ่าน HUAWEI CLOUD, โครงการ Spark Pitstop Program ที่ออกแบบมาเพื่อดูแลและให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในระบบ HUAWEI CLOUD ให้สามารถเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ และโครงการ Spark Innovation Program (SIP) ที่เน้นด้านการอำนวยความสะดวกด้านนวัตกรรมธุรกิจองค์กรผ่านอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพภายใต้โครงการ Spark
แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและคณะกรรมการบริหาร หัวเว่ย กล่าวว่า เราต่างทราบดีถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ที่เป็นทั้งนักประดิษฐ์คิดค้น นักปฏิรูป และผู้บุกเบิกของยุคสมัย โดยธุรกิจเหล่านี้สร้างการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสามจากทั้งโลก สร้างงานใหม่ทั้งหมดกว่าสองในสามจากทั้งโลก ทั้งยังได้สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกได้กว่า 50%
เมื่อ 34 ปีที่แล้ว หัวเว่ยเองก็เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการจดทะเบียนเพียง 5,000 ดอลลาร์เท่านั้น จึงมีแนวคิดว่าจะสามารถใช้ประสบการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพอื่นๆ ก้าวข้ามความท้าทายได้อย่างไร
โดยคาดว่าความช่วยเหลือนี้จะสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพคว้าโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุตดิจิทัล ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโลกได้มากขึ้น
จาง ผิงอัน (Zhang Ping'an) ประธานกลุ่มธุรกิจคลาวด์ หัวเว่ย กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจะยกระดับการสนับสนุนแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านนโยบายใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการทำงานผสานกันระหว่างคลาวด์กับคลาวด์ (cloud-plus-cloud collaboration) การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง บริการคลาวด์ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น และอีโคซิสเต็มที่มีคุณภาพสูงสำหรับธุรกิจ
หัวเว่ยเปิดตัวโครงการ Cloud-plus-Cloud Collaboration and Joint Innovation Program เพื่อให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์อัพด้วยทรัพยากรมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ โดยเงินลงทุนครึ่งหนึ่งมาจาก HUAWEI CLOUD และอีกครึ่งหนึ่งมาจาก Huawei Mobile Services (HMS)
ปี 2564 มีแผนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้ถึง 200 รายในด้านอีโคซิสเต็ม HMS รวมทั้งแบ่งปันช่องทางจากเครือข่าย ของเรากับนักพัฒนาทั่วโลก ซึ่งต่างทำงานเพื่อรองรับผู้ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยกว่า 1,000 ล้านคน นอกจากนี้ เรายังจะเปิดศูนย์ HMS Developer Innovation Center เพื่อสนับสนุนนักพัฒนา HMS Cloud กว่า 100,000 รายโดยเฉพาะ