ครึ่งปีหลัง ‘ภัยไซเบอร์’ ยิ่งระบาดหนัก 'โควิด-19' เพิ่มความเสี่ยง
เทรนด์ไมโคร เปิดวิสัยทัศน์ “ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้” ครึ่งปีหลัง ชี้โควิด-19 ยังส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ การเติบโตของเวิร์คฟอร์มโฮม ฟู้ดดิลิเวอร์รี แมสเซจจิ้งแอพ ข้อมูลข่าวสารบนโลกโชเชียล ยิ่งเปิดช่องเสี่ยงภัยคุกคาม
นีเลช เจน รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เทรนด์ไมโคร กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานภายในองค์กรเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากระยะไกล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยเนื่องจากมีผู้คุกคามจำนวนมากขึ้นที่พยายามฉวยโอกาสจากภาวะการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
เทรนด์ไมโครพบว่า ระบบนิเวศที่ทั้งแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ ต้องทำงานร่วมกัน ทำให้รูปแบบการจัดการและการป้องกันไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติเป็นต้นมา พบการเพิ่มขึ้นจำนวนมากของอีเมลต้มตุ๋น สแปม และการล่อลวงแบบฟิชชิ่งที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และแน่นอนว่าอาชญากรไซเบอร์ยังคงมุ่งที่จะฉวยโอกาสและออกแคมเปญที่ใช้โคโรน่าไวรัสเป็นธีมหลักในการโจมตี
‘เฮลธ์แคร์’ เป้าหมายโจรไซเบอร์
เขากล่าวว่า ปีนี้องค์กรธุรกิจต้องต่อสู้เพื่อการดำเนินงานที่ปลอดภัย และจากนี้โควิด-19 จะยังคงสร้างความท้าทายด้านการรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการค้าบนอีคอมเมิร์ซ ซึ่งอาชญากรจะพยายามบุกเข้าไปในระบบโลจิสติกส์ โดยกรณีที่เกิดขึ้นได้เช่น การก่อวินาศกรรมการผลิต การลักลอบขนส่ง (trafficking) และการขนส่งสินค้าลอกเลียนแบบจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์” จะยิ่งกลายเป็นที่จับตามองมากขึ้น เนื่องจากแพทย์จำนวนมากหันไปใช้ระบบการรักษาทางไกล (telemedicine) และการให้บริการทางการแพทย์ทวีความสำคัญมากขึ้น
“ความปลอดภัยด้านไอทีสำหรับระบบเฮลธ์แคร์จะถูกทดสอบ ทีมรักษาความปลอดภัยไม่เพียงต้องจัดการกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ป่วยและการโจมตีของมัลแวร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นไปได้ของการจารกรรมทางการแพทย์”
ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นและเร่งการเกิดกระบวนการปฏิรูปทางดิจิทัลอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการใช้เทคโนโลยีก็จะทำให้รูปแบบและภูมิทัศน์ของภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน
เทรนด์ไมโครพบว่ามี 4 เรื่องที่น่าสนใจและเป็นจุดที่สามารถนำไปสู่อาชญากรรมบนไซเบอร์ หรือภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ในปัจจุบันได้ นั่นคือ การเวิร์คฟรอมโฮม, การใช้งานฟู้ดดิลิเวอร์รี แมสเซจจิ้งแอพพลิเคชั่น ตลอดจนข่าวสารข้อมูลที่ออกมาจากภาคส่วนต่างๆ ก็กลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ สำหรับการรักษาความปลอดภัย
ไทยตลาดระดับท็อป 3 อาเซียน
ปี 2563 เทรนด์ไมโครดำเนินการบล็อคภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นจำนวน 62.6 พันล้านครั้ง หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 119,000 ต่อนาที โดยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า 91% ของภัยคุกคามเกิดจากอีเมล, การโจมตีบนเครือข่ายภายในบ้านเพิ่มขึ้นถึง 210% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่ รูปแบบของการโจมตีและเรียกค่าไถ่บนไซเบอร์ที่เรียกว่าแรนซัมแวร์มีการเปลี่ยนแปลงและมีรูปแบบการโจมตีตามสายพันธุ์ เพิ่มขึ้นถึง 34 % โดยท็อป 10 ของอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายการโจมตี ได้แก่ ภาครัฐบาล ธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต เฮลธ์แคร์ การเงิน การศึกษา เทคโนโลยี อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และประกันภัย ตามลำดับ
สำหรับเทรนด์ไมโคร มุ่งนำเสนอเกราะป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์เชิงรุก ด้วยเพลตฟอร์ม “Vision One” ที่ช่วยขยายการตรวจจับและการตอบสนองแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนใสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการทำงานให้ได้ประสิทธิผลยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นตลาดระดับท็อป 3 ในภูมิภาคอาเซียนของเทรนด์ไมโคร ซึ่งจากนี้จะยังคงให้ความสำคัญและเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกตลาดประเทศไทยเติบโต 15.5% เฉพาะซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิสเติบโต 623.4%, คลาวด์ซิเคียวริตี้(Cloud One) เติบโต 555.9%