‘Open-D’ แพลตฟอร์มสาธารณะพลิกโฉม ‘ข้อมูลเปิด’
จะดีแค่ไหน ?หากประเทศไทยมี Open Data แพลตฟอร์มสาธารณะด้านข้อมูล ซึ่งในวันนี้เนคเทค สวทช.ดัน ‘Open-D’ ขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม AIFORTHAI , NETPIE IoT Platform ,HandySense ไปแล้ว มาในวันนี้ได้ส่งมอบแพลตฟอร์มด้านข้อมูลเปิดแก่สาธารณะ
เพื่อที่จะช่วยภาครัฐมีเครื่องมือ หรือระบบที่สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐหรือองค์กรให้กับประชาชนได้รับทราบ และเป็นการผลักดันให้นักพัฒนาระบบหรือผู้ประกอบการด้านธุรกิจสาสนเทศ สามารถนำไปต่อยอดให้บริการพัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลให้กับหน่วยงานต่างๆที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งสาธารณูปโภคที่สำคัญในการพัฒนาความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย
โดยตัวอย่างข้อมูลภาครัฐที่มีคุณค่าสูงหากนำมาเปิดเผยได้ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเป็นชุดข้อมูลที่มีผู้สนใจนำไปใช้งาน อาทิ ภูมิอากาศ การใช้จ่ายของภาครัฐ
มาวันนี้กรุงเทพธุรกิจจะพาไปรู้จักกับแพลตฟอร์ม Open-D และลงลึกถึงทิศทางการวิจัยเทคโนโลยีด้าน Open Data ที่พร้อมเปิดให้ Download CKAN Open-D ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดทำ Open Data แล้ววันนี้
แต่เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องรู้ว่า “ข้อมูลเปิด (Open Data)” คือ ข้อมูลในแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ และเปิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่คิดมูลค่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนและปรับรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งในประเทศไทยมีเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Data.go.th ที่ริเริ่มและดูแลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Agency: DGA) ตั้งแต่ปี 2558
แต่กระนั้นภาครัฐก็ยังขาดซอฟต์แวร์สนับสนุนการดำเนินงานเปิดเผยข้อมูลอย่างครบวงจร ขาดโปรแกรมเครื่องมือสนับสนุนการใช้ประโยชน์ข้อมูลเปิด ตั้งแต่เรื่องของการนำเข้า การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นอัตโนมัติ และสุดท้ายการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ยังมีไม่มาก
จากความสำคัญดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลที่ชื่อ Open-D เพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนที่ต้องการให้บริการข้อมูลเปิดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถจัดทำบัญชีข้อมูลของหน่วยงานและให้บริการข้อมูลเปิดที่เป็นไปตามมาตรฐานระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ
และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยัง Data.go.th ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยได้มีข้อมูลแบบเปิดที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยนักพัฒนาโปรแกรม นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้วางแผนและกำกับนโยบาย และ ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เสาหลักสาธารณูปโภคด้านข้อมูลเปิด
“Open-D คือ เทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับข้อมูลแบบเปิดถูกพัฒนาขึ้นตามหลักการของความเป็นสากลด้าน Open Data เป็นผลงานการวิจัยของทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค” มารุต บูรณรัช กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ กล่าว
โดยในครั้งนี้ได้พัฒนาต่อยอดจากซอฟแวร์ CKAN (https://ckan.org/) ซึ่งเป็นซอฟแวร์ระบบจัดการข้อมูล (Data Management System) ชนิดโอเพนซอร์ส ที่ได้รับความนิยมในการนำไปให้บริการเว็บไซต์บัญชีข้อมูล สำหรับข้อมูลเปิดทั่วโลก ที่สำคัญได้แก่ เว็บไซต์ Data.gov, Data.gov.sg , Data.gov.au, Data.go.th เป็นต้น
ทั้งนี้ Open-D ได้ปรับปรุงเพิ่มความสามารถของ CKAN หลายฟังก์ชันได้แก่ Data Catalog สนับสนุนการจัดทำบัญชีข้อมูลที่สอดคล้องกับมาตรฐานภาครัฐ 2.Data playground สนับสนุนการใช้ข้อมูลเปิด เพื่อวิเคราะห์ จัดทำรายงานเชิงสรุปในรูปแบบตาราง แผนที่ กราฟ 3.Data Governance สนับสนุนการทำงานของบริกรข้อมูล ตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลขององค์กร 4.Data Connect สนับสนุนการสร้างชุดข้อมูลเปิดจากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานในแบบฐานข้อมูลหรือ API
ประหยัดเวลาดำเนินการ
ขณะที่ Open-D เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมความสามารถของระบบ CKAN ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยทั้งในด้านความสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดทำบัญชีข้อมูลที่กำหนดโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ การรองรับการสืบค้นข้อมูลภาษาไทย และเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในด้านต่างๆ ในด้านการจัดการข้อมูล
เช่น เครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างกราฟชนิดต่างๆ เครื่องมือสนับสนุนการนำเข้าข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นต้น โดยซอฟแวร์ Open-D ให้บริการทั้งในรูปแบบของส่วนขยายของ CKAN และซอฟแวร์ที่สามารถนำไปติดตั้งใช้งานในหน่วยงานได้
ทั้งนี้ Open-D จะช่วยให้หน่วยงานสามารถประหยัดเวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ให้บริการเปิดเผยข้อมูล ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานภาครัฐ รองรับการเชื่อมโยงบัญชีข้อมูล ตอบสนองการจัดการข้อมูลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล ที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการนำข้อมูลไปต่อยอดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
มารุต ยังเล่าต่อไปว่า แพลตฟอร์ม Open-D ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว ส่วนทิศทางการวิจัยในอนาคตจะเป็นการเข้าไปสนับสนุนทั้งต้นน้ำ Data Catalog กลางน้ำ Data Governance และปลายน้ำ Open Data ซึ่งการพัฒนา Open-D เพื่อสนับสนุนในทุกขั้นตอนเพื่อที่เนคเทคจะขยับตัวเองมาเป็นผู้พัฒนา Software Platform เพื่อให้กลางน้ำและปลายน้ำคือ บริษัทซอฟแวร์เอกชนและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดด้วยตนเองให้มากที่สุด เมื่อหน่วยงานส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานเครื่องมือเดียวกันการเชื่อมโยงจะง่ายมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งมีทิศทางการดำเนินงานเพิ่มเติมคือการเพิ่มความชาญฉลาดในเรื่องของภาษาไทย การประมวลข้อมูลที่มีความไดนามิกให้สามารถรองรับการนำเข้าข้อมูลอย่างอัตโนมัติซึ่งจะเป็นการพัฒนาในลำดับต่อไป
“ข้อมูลเปิดที่ Open-D กับ Data.go.th อยู่คนละบทบาทกัน ทั้งนี้การใช้ Ckan จะมี learning curve ประมาณนึง และจะต้องมีทักษะของระบบโอเพนซอร์ส แต่ Open-D แฮกระบบยากๆให้แล้วเบื้องต้น ทั้งนี้ทางเนคเทคจะมีการจัดอบรมแบบเชิงลึก “NSTDA career for the future” โดยหลักสูตรจะมีการจัดในเดือนกันยายนนี้ผ่านช่องทางออนไลน์แก่ผู้ที่สนใจ”