หวยล็อก 'ไทยคม' ลุ้นแบ่งเค้กคุมดาวเทียมร่วม 'เอ็นที'
ปมล้มประมูลดาวเทียมยังน่าติดตาม!! คาดหลังบอร์ดกสทช.ล้มกระดานประมูลวงโคจร 28 ส.ค.นี้ "ไทยคม" อาจยังได้ประโยชน์ช่วงรอยต่อ เพราะ "เอ็นที" ยังให้สิทธิบริหารแทน และรับเงินจากการว่าจ้างให้บริการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อไป
หลังจากมติกสทช. ยกเลิกการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เพื่อนำหลักเกณฑ์ไปทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมในการประมูล เพราะมีแค่ "ไทยคม" ที่เสนอตัวขอร่วมประมูลเท่านั้น
ทาง2แพร่งวัดใจบอร์ด
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในวันที่ลงมติล้มการประมูลเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ใจความสำคัญนอกจากการยกเลิกการประมูล คือ ให้สำนักงานฯ ไปปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯให้มีความเหมาะสม เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล
ซึ่งก็แปลได้ว่า บอร์ดอาจจะเริ่มกำหนดการประมูลรอบใหม่ในช่วงถัดไป และตรงนี้บอร์ดไม่ได้มีการอ้างอิงของกรอบเวลากระบวนการสรรหาบอร์ดกสทช.ตัวจริง ที่มีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.นี้ ว่าจะรอให้บอร์ดชุดใหม่เข้ามาจัดการประมูลแทน
เพราะต้องอย่าลืมว่า บอร์ดเองก็มีความหวั่นใจและมองถึงอุปสรรค หรือ อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นหากกระบวนการสรรหาไม่เป็นดั่งที่คาดการณ์ไว้ หรือมีการล้มกระบวนการสรรหาเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด "รักษาการ" ก็จำเป็นต้องดูประเด็นการประมูลเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของชาติและผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง 2 แพร่งที่บอร์ดต้องเลือกคือ จะโดน 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าทีไม่จัดประมูลทำให้ชาติเสียผลประโยชน์ หรือโดนคดีเอื้อให้เกิดประโยชน์แต่ในท้ายที่สุดก็มีแค่ ไทยคม คนเดียวที่เสนอตัวเข้ามา
ชี้"ไทยคม"ยังมีแต่ได้กับได้
เรื่องนี้ เมื่อถามไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เจ้าของสัญญาสัมปทาน ได้ข้อมูลว่า แม้วันที่ 10 ก.ย.นี้อายุสัมปทานไทยคมที่มีมายาวนาน 30 ปีสิ้นสุดลง และวันรุ่งขึ้นทุกอย่างที่เป็นของไทยคมตามสัมปทาน BTO หรือ Build Transfer Operate ต้องส่งคืนกลับรัฐ และให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที รับหน้าที่หัวเรือใหญ่รับช่วงต่อดูแลไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และ ไทยคม 6 ....แต่ก็ใช่ว่าไทยคมจะไม่เหลืออะไร
เพราะต้องยอมรับว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ ไทยคมยังมีบทบาทสำคัญบริหารดาวเทียมทั้ง 2 ดวงดังกล่าวต่อไป ในลักษณะการให้ไทยคมทำหน้าที่บริหารแทน และเอ็นทีก็รับผิดชอบในส่วนที่เป็นระบบงานอื่นควบคู่กัน
ดังนั้นแม้ ตอนนี้ยังไม่เกิดการประมูลดาวเทียม ก็ไม่ได้ส่งผลกับภาพรวมของธุรกิจดาวเทียม และชาติก็ยังไม่ได้เสียผลประโยชน์ เพราะในวงโคจรอวกาศยังมีดาวเทียมให้บริการอยู่ โดยไทยคม คือ ดวง 4 และ 6 ที่เป็นของรัฐแน่นอนแล้ว กับไทยคม 7 และ 8 ที่อยู่ในข้อพิพาทชั้นอนุญาโตตุลาการที่ดีอีเอสก็ยืนยันมาตลอดว่าทั้ง 2 นี้ก็เป็นดาวเทียมของรัฐ
"ดังนั้นการล้มประมูลของบอร์ดกสทช.อยากให้มอง 2 มุม
1.ไทยคมก็อาจจะกระทบในระยะกลาง-ยาว เพราะแทนที่จะได้โอกาส เริ่มต้นนับหนึ่งทำธุรกิจที่ไม่ต้องมีข้อพิพาทตามเป็นหางว่าว แต่ไปรับใบอนุญาตจากกสทช.เลย
2.ในระยะสั้น ไทยคมเองต่างหาก ที่ได้ประโยชน์ตรงนี้ เพราะเมื่อไม่มีการประมูลก็ไม่มีคู่แข่ง ไทยคมก็ยังผูกขาดตรงนี้ต่อไป และก็ยังได้สิทธิบริหารดาวเทียมต่อไปด้วย เพราะมันไม่มีช่องเปิดให้ใครเข้ามาทำ
ผู้สื่อข่าวรายงาน นอกจากจะถูกว่าจ้างให้บริการไทยคม 4 และ 6 จากเอ็นที โดยเอ็นที จะได้รับรายได้จากการให้บริการลูกค้าที่ดาวเทียมดังกล่าวให้บริการอยู่ ส่วนไทยคม จะได้รับเงินจากการบริหารงานอีกทอดหนึ่ง
ส่วนไทยคม 7 และ 8 นั้น ไทยคมเองเคยส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ยืนยันว่าไทยคม 7 และไทยคม 8 ไม่ใช่ดาวเทียมภายใต้สัญญาดําเนิน กิจการดาวเทียมสื่อสาร (“สัญญาสัมปทาน”) เพราะ เป็นการดําเนินการภายใต้ระบบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
และเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ศาลปกครองกลางไต่สวนคําร้องแล้ว กรณีสิทธิในการใช้วงโคจรดังกล่าว และ ได้มีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับของมติของกสทช.ดังกล่าว โดยให้ บริษัทมีสิทธิในการใช้วงโคจรและข่ายงานดาวเทียมที่เกี่ยวข้องต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้ไทยคมมีสิทธิใช้วงจรโคจรไทยคม 7 และ ไทยคม 8 ต่อไป
ทั้งนี้ ไทยคม 7 ประจำอยู่ที่วงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ให้บริการด้วยระบบซีแบนด์ รองรับบริการบรอดคาสต์และดาต้า สามารถตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสาร เพื่ออุตสาหกรรมบันเทิงและผู้ประกอบการโทรคมนาคม ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย
ดาวเทียมไทยคม 8 อยู่ที่วงโคจรตำแหน่งสำคัญ 78.5 องศาตะวันออก ขยายพื้นที่ให้บริการเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตลาดในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ประกอบด้วยช่องสัญญาณระบบเคยูแบนด์จำนวน 24 ช่อง สามารถให้บริการด้านดาต้า มีเดีย และโทรคมนาคมได้อย่างเต็มรูปแบบ