เปิดโผธุรกิจดิจิทัล 'เข้าข่าย' เสียภาษี 'อี-เซอร์วิส' 1 ก.ย.นี้ - 'กูเกิล-เฟซบุ๊ค' แจง 'พร้อมจ่าย'
เปิดหมวดหมู่ธุรกิจที่ "เข้าข่าย" เสียภาษีอี-เซอร์วิส ที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 ก.ย.นี้ ล่าสุด กูเกิล -เฟซ บุ๊ค ระบุพร้อมทำตามกฏหมายของประเทศไทย เผยรายได้ เฟซบุ๊ค ในไทยปีล่าสุดกว่า 356 ล้านบาท กูเกิล ประเทศไทย กว่า 800 ล้านบาท
สืบเนื่องจาก การจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e - Service) ของกรมสรรพากร ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 1 ก.ย.นี้
กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 23 ในเดือนถัดไป โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วมากกว่า 50 ราย
ภาษีอี-เซอร์วิส ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย.นี้ ถูกออกแบบมา เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาให้บริการดิจิทัลในไทย ทั้งเป็นการอุดการรั่วไหลของเงินที่ไทยควรได้รับ แต่ที่ผ่านมากลับไหลออกต่างประเทศ
โดยเฉพาะแพลตฟอร์มหลักที่หอบเม็ดเงินโฆษณาในไทยไปกว่า 50% ตัวเลขที่ไทยควรได้ประโยชน์ แต่กลับสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หลายบริษัทดิจิทัลออกมาระบุถึงความพร้อมในการชำระภาษีอี-เซอร์วิส ซึ่งกลุ่มบริษัทดิจิทัลหลักๆ ที่เข้าข่ายในการเสียภาษี เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ ไลน์ ฯลฯ
ล่าสุด โฆษก กูเกิล กล่าวกับ ”กรุงเทพธุรกิจ” ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมากูเกิลปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรของทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายก็จะยังคงปฏิบัติตามหน้าที่ของเราต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในกรณีที่มีผลบังคับใช้ และเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กูเกิลจะดำเนินการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และนำส่งตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่ตัวแทนของเฟซบุ๊ค ประเทศไทย ยืนยันกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เฟซบุ๊คชำระภาษีตามกำหนดทั้งหมดในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ ในส่วนการบังคับใช้กฎหมาย e-Service ในไทยนั้น เฟซบุ๊ค ได้ประสานกับกรมสรรพากรมาโดยตลอด และได้สื่อสารไปยังผู้โฆษณาของเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โฆษณาบนเฟซบุ๊คในไทย ถูกกำหนดให้มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้โฆษณาที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางของการ ‘จำหน่ายไปยัง’ (Sold To) ในบัญชีธุรกิจหรือบัญชีส่วนตัวของพวกเขา และที่ยังไม่ได้เพิ่มข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในบัญชีโฆษณาเฟซบุ๊ค
"ผู้โฆษณาสามารถอัพเดทเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไปที่การตั้งค่าบัญชีโฆษณา ซึ่งอยู่ในตัวจัดการบัญชีโฆษณา (Ad Account Manager) สำหรับผู้โฆษณาชาวไทยที่ได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดย Facebook แต่ผู้โฆษณาเหล่านี้มีหน้าที่ยื่น ประเมิน และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรด้วยตนเองตามระบบภาษีย้อนกลับ (reverse charge)" ตัวแทนเฟซบุ๊คในไทย ระบุ
ขณะที่ “เน็ตฟลิกซ์” ที่ก่อนหน้านี้บัญชาการทุกอย่างมาจากประเทศสิงค์โปร์ แต่ปัจจุบันได้จดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการภายใต้ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Creden Data ระบุว่า ใช้ทุนจดทะเบียน 150,000,000 ล้านบาท ส่วนเฟซบุ๊ค กูเกิล ก็แสดงความพร้อมมาก่อนหน้านี้ ที่จะทำตามกฏหมายไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปดู รายได้ของแพลตฟอร์มดังๆ เช่น เฟซบุ๊ค ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 356,828,422 ล้านบาท มีตัวเลข เสียภาษี ราว 8 ล้านบาท ขณะที่ กูเกิล ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 814,203,361ล้านบาท (ที่มา creden data)
หมวดหมู่ธุรกิจที่ "เข้าข่าย" เสียภาษีอี-เซอร์วิส
ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ และเข้ามาให้บริการในไทย โดยมีทั้งหมดคร่าวๆ ดังนี้
1.สินค้าอีคอมเมิร์ซบนเว็บไซต์ออนไลน์ต่างประเทศ เช่น อีเบย์ อเมซอน อาลีบาบา เป็นต้น
2.กลุ่มมีเดีย หรือกลุ่มสื่อที่ต้องซื้อโฆษณาบน เฟซบุ๊ค กูเกิล ยูทูบ ซึ่งมีมูลค่านับหลายหมื่นล้านบาท
3.กลุ่มบริการ (Service) บริการบนแอพพลิเคชั่น ที่เป็นระบบพรีเมียมที่คิดค่าบริการรายเดือน //มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ,เอเวอร์โน้ต
4.บริการการเดินทาง (Transportation) ของต่างประเทศ รวมถึงการจองบริการเดินทางสายการบินต่างๆ
5.บริการจองผ่านแอพต่างประเทศ ท่องเที่ยว เช่น Booking.com หรือ AirBNB
6.กลุ่มดิจิทัลคอนเทนท์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ไอฟลิกซ์ JOOX Spotify
7.กลุ่มซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นบริการดาวน์โหลดผ่านออนไลน์ เช่น แอ๊ปเปิ้ล แอพ แอนดรอยด์ แอพ
8.กลุ่มวีดีโอ เกม ที่ปัจจุบันมีบริการมากมายในรูปแบบการซื้อผ่านออนไลน์ รวมไปถึงการซื้อสินค้าภายในเกม
9.กลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ หรือกลุ่มนักพัฒนาบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ต้องหันไปใช้บริการคลาวด์ของต่างประเทศ /// บริการคลาวด์
10.กลุ่มออนไลน์ เพย์เม้นท์ เช่น บริการเพย์พาล
11.กลุ่มการลงทุน (Investment) หรือการลงทุนทางด้านธุรกิจ เช่น forex หรือ การเล่นค่าเงิน เป็นต้น
12.กลุ่มการพนันออนไลน์ (Online Gambling) อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก และธุรกิจนี้แทบ 100% เป็นของต่างประเทศ
ที่มา : pawoot.com