"ดีอีเอส" ลั่นไม่เคยต่อสัมปทานจำแลง เอื้อประโยชน์ "ไทยคม" ฮุบดาวเทียม
"ชัยวุฒิ" ลุกขึ้นอภิปรายประเด็นเปิดช่องให้ธุรกิจดาวเทียมยังอยู่ในมือของเอกชนรายเดิม ไม่เปิดให้ทำธุรกิจเสรีในประเทศ ชี้เป็นคนสั่ง กสทช.เบรกประมูล เพราะมีเพียง "ไทยคม" ยื่นเอกสารรายเดียว ย้ำได้โอนกิจการไปให้ "เอ็นที" เก็บทรัพย์สินคืนสู่รัฐแล้ว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกโยงไปว่าเพราะตัวรัฐมนตรีเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของไทยคมว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเอื้อประโยชน์ให้ไทยคมได้ทำธุรกิจต่อหลังจากสิ้นสุดสัมปทานกับกระทรวงดีอีเอสในวันที่ 10 ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ยังได้มีหนังสือเอกสารยกเลิกการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ส.ค.2564
หลังจากมี บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เข้ามายื่นคำขอรับอนุญาตเพียงรายเดียว ซึ่งนอกจากนี้ มีเพียงไทยคมเข้ายื่นเพียงรายเดียว ยังประกอบกับที่ตนเอง ได้ส่งหนังสือถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไป และรอ กสทช.ชุดใหม่ ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการนั้น เพราะการประมูลมีความเกี่ยวพันกับการให้ใบอนุญาตมากกว่า 15 ปี จึงควรเป็นหน้าที่ของบอร์ดใหม่ดีกว่าให้บอร์ดรักษาการเป็นผู้ดำเนินการประมูล
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาได้มีการลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างดีอีเอสกับเอ็นทีตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ เอ็นที เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับไทยคม
การมอบสิทธิให้เอ็นทีเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ที่จะมีการโอนคืนมาให้กับรัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (119.5 องศาตะวันออก) และดาวเทียมไทยคม 6 (78.5 องศาตะวันออก) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้
แต่ในช่วงที่ยังไม่มีความพร้อมก็ต้องเป็นไทยคมที่ต้องเป็นคนผู้ช่วยบริหาร และยืนยันไม่ใช่สัมปทานจำแลงแต่อย่างไร เพราะธุรกิจไทยคมเป็นเรื่องเฉพาะธุรกิจมากๆในประเทศไทย ก็มีแต้ไทยคมที่ทำธุรกิจนี้ เอ็นทีจึงยังต้องบริหารงานในช่วงแรกร่วมกับไทยคมอยู่
ส่วนดาวเทียมอีก 2 ดวงที่เป็นของไทยคมคือ ไทยคม 7 (120 องศาตะวันออก) และ ไทยคม 8 (78.5 องศาตะวันออก) เป็นดาวเทียมที่อยู่ในข้อพิพาทว่าเป็นดาวเทียมตามสัญญาสัปมทานหรือดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.ตามพ.ร.บ องค์การจัดสรรฯ (พ.ร.บ.กสทช.) ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมากว่า 2 ปีแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินโครงการนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการบริหารจัดการทรัพย์สินขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงฯ กับผู้แทนบริษัทฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นกรรมการ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาหรือร่วมเป็นกรรมการ ในการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตามความตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญา ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้
ทั้งนี้ การให้ เอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย