‘ทาเคชิ ยามาดะ’ ถอดดีเอ็นเอ ศิลปะดิจิทัล ‘teamLab’
เปิดแนวคิด ทีมแล็บ (teamLab) ผู้สร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะดิจิทัลจากแดนซากุระ ที่ได้รับความนิยมจากคอศิลป์ทั่วโลก
ด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิดเรื่อง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน (Relationship Among People) ของ “ทีมแล็บ (teamLab)” ผู้สร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะดิจิทัลจากแดนซากุระ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ทศวรรษ พวกเขาสามารถบุกเบิกพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลให้ได้รับความนิยมในหลายประเทศ และยังมีคอศิลป์จากทั่วโลกตั้งตารอประสบการณ์ “เข้าชม” อย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต
เทเคชิ ยามาดะ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Recruitment team Leader) teamLab,Inc. ย้อนรอยความสำเร็จนี้ว่า ทีมแล็บจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยทีมก่อตั้งที่เป็นวิศวกรล้วนๆ 5 คนแต่แล้วก็พบข้อจำกัดว่า ไม่สามารถสร้างงานที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ได้ด้วยทักษะด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว
จึงเป็นที่มาของการรวบรวมบุคลากรในสาขาอื่นๆ ได้แก่นักคอมพิวเตอร์กราฟฟิก นักคณิตศาสตร์ นักแอนิเมเตอร์ ฯลฯ เข้ามาอยู่ในทีม เป็นเสมือนการรวบรวมศิลปะ(Art Collective) มาไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ขยายอาณาเขตไปครอบคลุมนักสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและสาขาความชำนาญ เมื่อดูจากโครงสร้างปัจจุบันที่มีจำนวนพนักงาน 700 คน สัดส่วน 15% เป็นบุคลากรต่างชาติ ทีมงานฝั่งเทคโนโลยีมีอยู่ราว 60% ด้านรูปแบบการทำธุรกิจจะมีพันธมิตรซึ่งอาจเป็นบุคคล บริษัท หน่วยงานรัฐ ช่วยสนับสนุนงบประมาณและสถานที่ เพื่อให้เข้าไปทำโครงการได้โดยไม่มีข้อจำกัด
ความสำเร็จโดดเด่นในการผลักดันศิลปะดิจิทัลเข้ามาอยู่ในอาคารจัดแสดงแบบถาวร เกิดขึ้นในปี 2561 ผ่านความร่วมมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย teamLab เปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งแรกอย่างเป็นทางการในชื่อ teamLab Borderless บนพื้นที่ 10,000 ตร.ม. ของอาคาร Mori Building ในกรุงโตเกียว
ปัจจุบันมีผลงานศิปะจัดแสดงอยู่ไม่ต่ำกว่า 65 ชิ้นที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ซึ่งเบื้องหลังความสามารถพิเศษนี้ก็คือ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการควบคุมถึง 520 เครื่อง และโปรเจคเตอร์อีก 470 ตัว ความน่าทึ่งของผลงานศิลปะที่ติดตั้งอยู่ใน teamLab Borderless ก็คือ งานศิลป์ทุกชิ้น สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้อง สื่อสารกันเองได้ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม และความสำเร็จนี้ได้ขยายไปสู่การเปิดแห่งที่ 2 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ในอีกกว่า 1 ปีต่อมา
“เราอยากทำศิลปะดิจิทัล เพราะผลงานศิลปะแบบดั้งเดิมไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เป็นการติดตั้งอยู่กับที่ ยึดติดกับพื้นที่ คนไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะนั้นๆ ได้ แต่ศิลปะดิจิทัลสามารถปลดปล่อยให้งานศิลปะมีปฏิสัมพันธ์กับคนได้”
ถ้าจะพูดถึงแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของทีมแล็บ เขาอยากเน้นเป็นพิเศษไปที่ 3 แนวคิด ได้แก่ 1.Transcending Boundaries เป็นการทำลายข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเชื้อชาติ เพศ โดยใช้ศิลปะทำลายขีดจำกัดเหล่านี้
แนวคิดหลักเรื่องที่ 2. คือ Co-Creation (Collaborative Creation) หรือการสร้างสรรค์ร่วมกัน ออกแบบให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผ่านการเล่นสนุก (Learn&Play) พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเซ็นเซอร์เข้าไปสร้างประสบการณ์เรียนรู้แบบสมจริง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลงานศิลปะกับผู้เข้าชม และสร้างการเรียนรู้ถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ทีมแล็บ ให้ความสำคัญกับแนวคิดหลักข้อนี้อย่างมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตเอไอและหุ่นยนต์ จะเข้ามาแทนที่คนในหลายๆ กิจกรรม แต่สิ่งแหล่านั้นไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้
สำหรับแนวคิดหลักเรื่องที่ 3. Relationship Among People หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ในโลกยุคนี้ที่การอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้ามักจะไม่ใช่สิ่งที่น่าสบายใจ ทีมแล็บจึงได้สร้างสรรค์งานศิลปะที่ทำให้คนแปลกหน้า เกิดความร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันความงามในการชมความงามของศิลปะ โดยไม่ยึดติดข้อจำกัดของพื้นที่ว่า ยืนอยู่ตรงนี้จะเป็นจุดที่ดีที่สุดในการชมผลงานชิ้นนั้นๆ
ทั้ง 3 แนวคิด เชื่อมโยงสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในการชมศิลปะ ทั้งปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขยายสู่การออกแบบงานชิ้นใหญ่ขึ้น แม้อาจไม่ใช่ในเชิงวัตถุที่จับต้องได้ แต่ชิ้นงานจากอาคารหลังหนึ่ง หรือพื้นที่จุดใดจุดหนึ่งของเมือง ก็สามารถสร้างความสุขให้กับคนที่อยู่ในส่วนอื่นของเมืองนั้นๆ และนี่คือสิ่งที่ทีมแล็บต้องการสร้างสรรค์ออกมา