อว.รุกให้ความสำคัญควอนตัม ดันนักวิจัยสร้างการเปลี่ยนแปลง

อว.รุกให้ความสำคัญควอนตัม ดันนักวิจัยสร้างการเปลี่ยนแปลง

อว. เน้นย้ำให้ความสำคัญการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม ดันนักวิจัยสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ด้าน สอวช. พร้อมผลักดันสนับสนุนด้านนโยบาย ปลดล็อกกลไกกฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติและการเสวนาวิชาการ “ข้อริเริ่มการวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัม: ความท้าทายและโอกาส” ปี 2564 หรือ QTRI-2021 Quantum Technology Research Initiative: Challenges and Possibilities และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของการลงทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อพัฒนาความรู้ที่เป็นรากฐานของความก้าวหน้าในอนาคต” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์

เอนก ได้กล่าวถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และได้มอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่จะต้องพัฒนาและผลิตผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรมและศิลปวิทยาการ ให้มีคุณภาพสูงทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 10 ปี หรือภายในปี 2573 ซึ่งทั้งสองเป้าหมายนี้มีกรอบเวลาที่ชัดเจนและมีตัวชี้วัดที่สำคัญ คือการทำให้ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศพัฒนาแล้วเมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ชาติ การจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้จึงควรส่งสัญญาณไปยังสถาบันวิจัยและนักวิจัยให้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงาน โดยต้องเลือกและทุ่มเทในส่วนงานที่ทำให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้

เอนก ได้เน้นย้ำ คือการที่ประเทศไทยต้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยีควอนตัม ทั้งการคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing), การสื่อสารเชิงควอนตัม (quantum communication) และมาตรวิทยาและการรับรู้เชิงควอนตัม (quantum metrology) เพราะเทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาเป็นสิ่งที่พลิกสถานการณ์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (disruptive change) ซึ่งประเทศไทยควรเปิดรับและปรับตัวให้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทุกครั้ง จะนำมาซึ่งการแข่งขันใหม่ทุกครั้ง เมื่อทุกประเทศต้องเริ่มใหม่ ประเทศไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้ในการลดช่องว่างทางเทคโนโลยีกับประเทศที่นำหน้าเราอยู่ นักวิทยาศาสตร์และประชาคมวิจัยต้องช่วยกันทำให้ได้

“ประเทศไทยต้องเข้าสู่โลกยุคควอนตัมให้เร็วที่สุด ต้องให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนทางงบประมาณ การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน และต้องทำแผนยุทธศาสตร์ โดยกำหนดเป้าหมายให้ไทยต้องมีความสามารถด้านเทคโนโลยีควอนตัมเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของเอเชียและของโลก และต้องเริ่มทำทันที ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ และเตรียมตัวให้พร้อมและมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่เลือกทำในเรื่องที่ดีที่สุด เราก็จะสามารถแข่งขันได้เมื่อโลกเปลี่ยนอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ยุคควอนตัม หากทำได้เช่นนี้การพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมียุทธศาสตร์” เอนก กล่าว

 

เอนก ยังได้กล่าวเสริมว่า จากการได้พบปะนักวิจัยควอนตัมของไทย พบว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นความหวังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของไทยให้ไปสู่ระดับแนวหน้าได้ จึงได้ให้โอวาทและคำแนะนำแก่นักวิจัยว่า อย่าคิดว่าจะต้องทำงานไล่กวดตามผู้อื่นเสมอไป หากพบช่องทางการพัฒนาที่เป็นทางลัด ต้องทำทันที และให้ทำในลักษณะของการก้าวกระโดด โดยนักวิทยาศาสตร์ต้องไม่มีแนวคิดที่เป็นอุปสรรค เช่น คิดว่าตัวเองล้าหลัง ประเทศล้าหลัง แต่ให้เชื่อมั่นในความเก่งกาจ ความฉลาดและความรวดเร็วของตนเอง และต้องร่วมมือกัน ทำงานวิจัยโดยสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกทั้งหมด

สำหรับช่วงการเสวนา Quantum Technology Q&A: Conception and Inspiration ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวนำงานเสวนาในหัวข้อ “สิ่งที่คาดหวังจากโปรแกรมการวิจัยขั้นแนวหน้า”

 กาญจนา กล่าวถึง การวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research) ว่าจะมีบทบาทสำคัญมากที่จะสร้างโอกาส และเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม รวมถึงช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ซึ่งความคาดหวังจากโปรแกรมวิจัยขั้นแนวหน้าในส่วนแรกคือการสร้างคน โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถสูง ต้องหาแนวทางที่จะสร้างและรักษากลุ่มคนเหล่านี้ไว้ รวมถึงดึงดูดคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศ สิ่งต่อมาคือความรู้ ที่เป็นอาวุธในการแข่งขัน เห็นได้จากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีมวิจัยที่ทำเรื่องการวิจัยขั้นแนวหน้าก็ได้ใช้ความรู้นี้ไปตอบโจทย์ในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และส่วนสุดท้ายคือเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะสามารถซื้อมาใช้ได้ แต่เราต้องมีการพึ่งพาตัวเองด้วย และการมีเทคโนโลยีก็จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม ต้องมีการสร้างระบบนิเวศ ได้แก่ 1) การสร้างผู้ประกอบการ/ธุรกิจฐานนวัตกรรม Innovation Driven Enterprises: IDE, สตาร์ทอัพ, Spinoff 2) การลดความเสี่ยงภาคธุรกิจ ภาครัฐมีเงินทุนสนับสนุน, มีการสร้างกฎระเบียบให้เอื้อในการที่มหาวิทยาลัยจะสามารถตั้งเป็น Holding Company ได้ รวมถึงเรื่องการส่งเสริม VC, Angel Capital ที่มาลงทุนในประเทศไทย 3) การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) การลงทุน ร่วมทุนกับมหาวิทยาลัย และกองทุนนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน 4) ภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญมาก ทั้งการจัดระบบสนับสนุนและบริหารจัดการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มีประสิทธิภาพ การปลดล็อกกฎหมาย/กฎระเบียบ สร้างแรงจูงใจ/สิทธิประโยชน์ ด้านการเงิน การลงทุน รวมถึงสร้างกลไกตลาดนวัตกรรม บัญชีนวัตกรรม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการสนับสนุนการสร้างตลาดต่างประเทศ และ 5) มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) รวมถึงการสร้าง Knowledge Hub Innovation Hub ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม

เมื่อตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องลงทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า ดร. กาญจนา กล่าวว่า เป็นสร้างความรู้ ความเป็นเลิศ และความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทย สร้างอุตสาหกรรมอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากภาวะวิกฤต และเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนสู่ความสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สำหรับการขับเคลื่อนการวิจัยขั้นแนวหน้าเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2561 ที่ สอวช. (ในขณะนั้นคือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน.) ได้รับมอบหมายให้จัดทำกรอบการวิจัยขั้นแนวหน้า โดยกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศเพื่อคนไทย เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อความมั่นคงของประเทศ ใน 4 ด้าน ได้แก่ อาหารเพื่ออนาคต, การแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า, พลังงานแห่งอนาคต, และการป้องกันภัยคุกคามรับมือความเสี่ยงและสร้างโอกาสในอนาคต ซึ่งเรื่องควอนตัมก็เป็นหนึ่งในนั้น

กาญจนา กล่าวเสริมว่า สอวช. มีการผลักดันเรื่องการวิจัยขั้นแนวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของการบุกเบิกงานวิจัยขั้นแนวหน้า ได้รับการบรรจุเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้รับการบรรจุเป็นแผนสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และแผนด้าน ววน. พ.ศ.2563-2570 โดย ได้มอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยบริหารแผนงานด้านนี้ และได้เริ่มลงรายละเอียดจัดทำแผนที่นำทางการทำวิจัยขั้นแนวหน้าในแต่ละสาขาด้วย

ในแง่ปัจจัยแห่งความสำเร็จ กาญจนา กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งในระดับนโยบายก็มีการสนับสนุน มีทิศทางที่ชัดเจน ส่วนต่อมาคือการสร้างกำลังคน และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกรอบและโจทย์วิจัยที่เหมาะสมและท้าทาย เงินทุนในการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง มีระบบบริหารจัดการและการติดตามประเมินผลที่เหมาะสมกับการวิจัยขั้นแนวหน้า ที่ใช้เวลานานและมีความเสี่ยงสูง การทำงานเชื่อมโยงกับภาคเอกชน การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้า รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับทีมวิจัยและองค์กรวิจัยขั้นแนวหน้าของโลก เชื่อว่าถ้ามีเป้าหมายชัดเจน ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เราจะเป็นคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้

ทั้งนี้ ในงานเสวนายังได้มีช่วงของการแลกเปลี่ยน พูดคุยกับนักวิจัยควอนตัม ที่ทำเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย พูดคุยถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัม รวมถึงความก้าวหน้าในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ในประเทศไทย ปิดท้ายด้วยการกล่าวถึงบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยให้ตอบโจทย์ของประเทศ ซึ่งกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566-2570 ของ สกสว. การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยขั้นแนวหน้าจะตรงกับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ซึ่งจะตอบโจทย์ผลกระทบในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า และทำให้มีผลงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพิ่มขึ้นในประเทศไทยด้วย