"เวริลี วิชั่น" หมอโรงงาน ส่ง "เอไอ" เช็คสุขภาพเครื่องจักร
“ความแม่นยำในการบันทึกข้อมูล” ถือเป็นประตูด่านแรกที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง “เวริลี วิชั่น” จึงพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนผ่านการทำงานของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการขนส่งและกระจายสินค้าสู่ดิจิทัล
ปิยะวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของเพื่อนในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 90% เป็นวิศวกรทั้งหมด จึงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา แรกเริ่มพวกเขามีเจตนารมย์ที่ต้องการจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทยเข้าสู่ยุคการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยหนึ่งในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสานกับการทำงานแบบเดิมแบบไร้รอยต่อ ได้แก่ การพัฒนา “ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจซ่อม และบำรุงเครื่องจักรในโรงงาน” ด้วยการนำหลักการทางวิศวกรรม มาพัฒนาเป็นการรวมระบบเพื่ออ่านค่าตัวเลข ตัวอักษร ด้วยการใช้ภาพถ่าย เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีไอโอที ทั้งมีการประมวลผลด้วยเทคโนโลยี
“เทคโนโลยีที่บริษัทนำมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการสำหรับภาคอุตสาหกรรมนี้ เป็นระบบเอไอ สำหรับตรวจซ่อมบำรุง ดูแลรักษา และตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรภายในโรงงานแบบอัตโนมัติ เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานคน และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน”
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมจึงเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ เขาชี้ว่า ด้วยภาคอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับแต่งการทำงานได้หลายภาคส่วน อีกทั้งในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีของไทยน้อยกว่าต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นในอุตสาหกรรมที่จะต้องทรานฟอร์มเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน
ดึง ‘เอไอ’ ตรวจจับป้ายทะเบียน
โดยทั่วไปการตรวจสอบระบบต่างๆ จะต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ 100% และต้องทำการตรวจสอบทุก 4 ชั่วโมง ทั้งจดบันทึกรายละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนของข้อมูล ดังนั้นบริษัทจึงต้องการนำระบบเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการผลิต กลุ่มโลจิสติกส์ คลังสินค้า ท่าเรือ ที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและแม่นยำตลอดเวลา
“เวริลี วิชั่น” ประกอบด้วย 3 อุปกรณ์หลัก คือ ระบบกล้องซีซีทีวี แท็บเลตและ Smart Glasses ที่จะจับภาพและตรวจสอบสถานะเครื่องจักรด้วยเอไอ สามารถเก็บข้อมูลความผิดพลาดด้านต่างๆ ระบบทั้งหมดจะบันทึกภาพแทนการบันทึกข้อมูลด้วยแรงงานคน และระบบจะประมวลผลให้ทันที อาทิ การวัดค่าความดัน ไฟฟ้า อุณหภูมิของเครื่องจักร ตรวจสอบความเสียหายของเครื่องจักร หลังจากจบขั้นตอนการตรวจสอบและเก็บข้อมูล จะบันทึกข้อมูลไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อให้โรงงานฯ สามารถดึงข้อมูลกลับมาใช้การซ่อมบำรุงได้อย่างเป็นระบบ
จากการเข้าร่วมโครงการ NIA Deep Tech incubation Program @ EEC ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ทำให้ขณะนี้เทคโนโลยีของบริษัทถูกนำไปใช้ในกระบวนการดูแลเครื่องจักรบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดทำบริการระบบการตรวจจับทะเบียนรถขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นระบบการตรวจจับข้อมูลผ่านกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติโดยการอ่านข้อมูลภาพถ่ายด้วยระบบเอไอ หลังจากนั้นจะมีการแปลงภาพเป็นข้อมูล และเก็บบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ง่ายต่อตรวจความถูกต้องของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ ระยะเวลาในการขนส่งสินค้า จำนวนรอบวิ่งของรถบรรทุก
ลดความผิดพลาดจาก “คน”
ระบบดังกล่าวจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้แรงงานคนในการจดรายละเอียด ข้อมูลในระบบคลังสินค้าและท่าเรือ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีทั้ง 2 รูปแบบที่บริษัทให้บริการอยู่นั้นสามารถช่วยสร้างศักยภาพในกระบวนการทำงาน และการตรวจสอบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และโลจิสติกส์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการใช้แรงงานคนและสามารถจัดสรรแรงงานให้ไปทำงานอื่นที่จำเป็นได้มากกว่า
ส่วนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ 1.โรงงานอุตสาหกรรม 2.ท่าเรือและคลังสินค้า 3.กลุ่มงานจราจร
ทั้งนี้รายได้จะมาจากการจัดจำหน่ายโซลูชัน โดยแบ่งเป็น 2 โมเดล ได้แก่ 1.การอนุญาตให้ใช้สิทธิ 2.การเป็นสมาชิก ทั้งนี้ภาพรวมการแข่งขันในตลาด เขามองว่า มีคู่แข่งทางธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีในการบ่งชี้ให้เห็นถึงการตอบรับจากองค์กรต่างๆ ในประเทศ จุดสำคัญคือบริษัทฯ โฟกัสคู่แข่งจากต่างประเทศ ซึ่งแข่งในด้านคุณภาพสินค้า เทคโนโลยี และความเป็นมืออาชีพ
จุดเด่นของบริษัทฯ คือ 1.การพัฒนานวัตกรรมขึ้นภายในองค์กร ทำให้มีความยืดหยุ่น และปรับแต่งได้ 2.สามารถเพิ่มฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์ได้ 3.นำเสนอโซลูชันในหลากหลายมุมทั้งการดำเนินการและฝั่งเทคโนโลยี
‘คุณภาพ’ หัวใจสำคัญความยั่งยืน
ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้บริษัทฯเกิดความยั่งยืน และสามารถสเกลได้คือ 1.คุณภาพ 2.ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง 3.ความยืนหยุ่นในการทำงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ อีกทั้งปัจจุบันบริษัทฯได้มีการเจรจากับต่างประเทศ ผ่านการจับมือกับพาร์ทเนอร์โดยตั้งเป้าที่จะขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และลาว
สุดท้ายนี้การดำเนินการถัดไปคือ มองหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่จะมาช่วยขยายตลาด รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ระบบตรวจสอบสภาพตู้สินค้าในการทำงานของคลังสินค้า ท่าเรือ หรือโรงงาน ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการเก็บข้อมูลโดยใช้ระบบกล้อง คาดว่าจะเปิดภายในปลายปีนี้