“พลัสไอทีโซลูชัน” ส่งเอไอวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม

“พลัสไอทีโซลูชัน” ส่งเอไอวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม

“พลัสไอทีโซลูชัน” ตอบโจทย์ปัญหาด้านการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่และการรับมือภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การบุกรุกที่ดิน การเผาพื้นที่เกษตรกรรม และล่าสุดคือการเกิดอุทกภัย โดยใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน “ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม” แทนที่การมอนิเตอร์โดยบุคลากร

“พลัส ไอที โซลูชัน” เกิดจากการผนึกความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี 3 ราย ได้แก่ บริษัท พลัส ไอที โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี , บริษัท โอแซดที โรโบติกส์ จำกัด ที่ทำด้านโซลูชันเอไอ และ บริษัท อาร์วี คอนเน็กซ์ จํากัด โดยต่อยอดโปรเจคจากโครงการวิจัยและพัฒนา “ภาพถ่ายดาวเทียม” ด้วยวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ต้องการเป็น Insight platform สำหรับ land monitoring

“ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม” เป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้วิเคราะห์พื้นที่ของประเทศและตรวจจับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ ควบคู่กับการใช้แพลตฟอร์มเอไอช่วยวางแผนในการเฝ้าระวัง หรือคิดวิธีการตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและวางแผนได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ดึงดาวเทียมมอนิเตอร์น้ำท่วม

“Automated LULC analysis system แพลตฟอร์มเอไอ ที่บริษัทพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการจำแนกพิกเซลภายในภาพ (Image segmentation) โดยเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ระบบสามารถจำแนกชนิดของพื้นดิน ด้วยการใช้ความสามารถของเอไอที่ทางทีมพัฒนาขึ้น ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อหาข้อมูลที่สำคัญ" เอกชัย จิรชูพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ กล่าว

ตัวอย่างเช่น สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น เพียงแค่หน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือน้ำท่วม ต้องการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ก็สามารถคีย์ไปได้ว่าพิกัดจีพีเอสของพื้นที่เป้าหมายคือตรงจุดใด ข้อมูลทุกอย่างก็จะอัพโหลดขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม จากนั้นแพลตฟอร์มจะทำการตรวจดูว่าในช่วงเวลานั้นพื้นที่น้ำท่วมกี่ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ที่เป็นดินกี่ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่ากี่ตารางกิโลเมตร ณ วันที่ตรวจสอบ และเทียบกับอดีตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีกทั้งยังทราบได้ว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ตรงจุดนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดูภาพรวมได้ผ่านทางแดชบอร์ด เพื่อประเมินความเสียหาย และบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์นั้นๆ แน่นอนว่าในบางกรณีรูปถ่ายดาวเทียมไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบ 100% ยกตัวอย่างเช่น อาจจะส่องลงมาในจังหวะที่มีเมฆฝนหนา ซึ่งดาวเทียมไม่สามารถที่จะสะท้อนค่าบางอย่างได้ ตัวเอไอจะมองเห็นเป็นสีเทา ซึ่งตรงจุดนี้ได้มีกลไกที่จะสคริปตัวไทม์ไลน์ และนำภาพในเวลาที่ใกล้เคียงกันในพื้นที่เดียวกันมาทดแทน

ข้อมูลอีกอย่างที่ทำได้คือ สามารถทำไอดีแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในรูปแบบคิวอาร์โค้ดบนโมบายแอพพลิเคชั่น สามารถบอกรายละเอียดของพื้นดิน การถูกเข้าถึง น้ำประปา คุณลักษณะของที่ดิน นอกจากนั้นดูได้ว่ามีข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้จะทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้น มีการวางแผนที่ดีขึ้น และดำเนินการได้เร็วขึ้น

เทคโนโลยีอวกาศสร้างโอกาส

“สำหรับโมเดลทางธุรกิจคือ 1. ขายผ่าน API หรือช่องทางที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยากใช้ความสามารถของเอไอ หรือข้อมูลที่เอไอวิเคราะห์ได้ในรูปแบบบริการ 2. บางบริษัทมีแพลตฟอร์มของตัวเอง หรืออยากสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองก็สามารถขอซื้อส่วนที่เป็นเอไอและตัวรับส่งข้อมูลจากบริษัทได้ เป็นเบื้องหลังของแพลตฟอร์มของลูกค้า 3.ในอนาคตจะพัฒนาเป็นรูปแบบแดชบอร์ดและรีพอร์ต คือเข้ามาดูและรับข้อมูลที่วิเคราะห์ได้เลย ซึ่งจะเก็บเป็นค่าสมาชิก”

ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ และบริษัทประกันต่างๆ สำหรับปัจจุบันระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม ตอนนี้ยังเป็นรูปแบบของการใช้งาน Project based หมายความว่าทำให้กับลูกค้าเพื่อการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

ทางด้านภาพรวมตลาด เขามองว่าค่อนข้างกว้าง แต่คู่แข่งที่อยู่ในตลาดทำเทคโนโลยีคนละฝั่ง เช่น ด้านการเกษตร มีหลายสตาร์ทอัพที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมวิเคราะห์แปลงเกษตรกรรม ส่วนแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือ น้ำท่วมยังไม่เห็นมากนัก แต่ก็มีหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มมองหาเทคโนโลยีอวกาศ ที่สามารถมอนิเตอร์ภาพรวมได้ อาทิ บริษัทประกันที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ใช้บริการภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม และค่าประกันที่ต้องจ่ายให้ผู้กับผู้ทำประกัน

เจรจาจิสด้าใช้ข้อมูลดาวเทียมไทย

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในระยะสั้นต้องการข้อมูลดาวเทียมที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้ามี จึงอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อที่จะนำข้อมูลดาวเทียมของประเทศไทยมาใช้ ซึ่งมีความละเอียดที่ดีกว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมของยุโรปและนาซา ส่วนในระยะยาวคาดว่าจะมีการพาร์ทเนอร์กับภาครัฐทางใดทางหนึ่ง แต่โดยหลักคือต้องการที่จะให้โปรดักท์นี้สามารถให้บริการได้

สำหรับความท้าทายเขามองว่าคือ การที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้ โปรดักท์จะต้องดีจริงและตอบโจทย์การใช้งานจริงได้ โดยเฉพาะ AOI LULC ที่จะต้องดีลกับภาครัฐ จึงเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของบริษัทไม่ได้มาแทนการทำงานเดิม แต่จะมาช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ความแม่นยำปัจจุบัน ภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้ 1 พิกเซล จะแทนพื้นที่ 10x10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างไม่ละเอียด ในสเกลนี้วัดความแม่นยำอยู่ที่ 90-95% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นลักษณะใด เช่น พื้นดิน จะมีความแม่นยำประมาณหนึ่ง แต่หากเป็นบ้านเรือน หรือน้ำ ค่อนข้างแม่นยำเกิน 95% ส่วนที่ยากคือคอนกรีต ดังนั้น โมเดลที่ทำอาจจะมีสับสันอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมการันตีเกิน 90% หากตรงจุดใดเป็นข้อจำกัดจะมีการทำรายงานออกมา”